เริ่มต้นศึกษาพระธรรมคือการรู้จักธรรมะก่อน

 
นายเรืองศิลป์
วันที่  17 พ.ย. 2551
หมายเลข  10421
อ่าน  3,167

สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาพระธรรมควรเริ่มจากการรู้จักธรรมะ ว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือทุกสิ่ง มีปัจจัยให้เกิด ปรากฏขึ้น บังคับบัญชาไม่ได้ ทำกิจหน้าที่ของตนเอง แล้วดับไป ไม่กลับมาเลย รวดเร็วมาก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นปัจจัยให้ธรรมะอื่นเกิดพร้อมหรือเกิดต่อ

ธรรมะเป็นของยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ธรรมะที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ ทนต่อการพิสูจน์ ธรรมใดที่ปฏิบัติตามไม่ได้จะไม่ทรงสั่งสอน เพราะฉะนั้น หากมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม นั่นคือมีโอกาสเพื่อการปฏิบัติตามได้ และสามารถเข้าถึงธรรมะได้แต่ต้องอาศัยเวลา ธรรมะเป็นสภาพความจริงที่เกิดปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เป็นสภาพอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น

วัตถุประสงค์ของการศึกษาธรรมะ เพื่อให้รู้ คือมีปัญญา เพื่อการละ มิใช่เพื่ออย่างอื่นเลย คือมิใช่เพื่อการให้ได้รู้เรื่องราวธรรมะมากๆ จำเรื่องราวธรรมะได้มากๆ หรือเพื่อการสอบได้ หรือได้รับการยกย่องใดๆ เพราะฉะนั้น การเริ่มศึกษาพระธรรม จึงควรเริ่มจากการฟังพระธรรม

ฟัง ณ ขณะนั้น แล้วไตร่ตรอง พิจารณา ว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริงโดยการพิสูจน์ด้วยเหตุผล เกิดเป็นความเห็นถูกเข้าใจถูก ความเห็นถูกเข้าใจถูกนี้เรียกว่าเกิดปัญญาเล็กน้อยในขั้นการฟัง ซึ่งจะต้องฟังต่อไป ฟังให้มาก ค่อยๆ สะสม อบรมอย่างนี้บ่อยๆ จะเป็นปัจจัยให้ได้รู้จัก เข้าใจธรรมะมากขึ้นๆ อย่าเพิ่งใจร้อน อยากรู้อยากมีสติ อยากมีปัญญา หรือคอยตั้งคำถามว่าเมื่อไรจะรู้ เมื่อไรจะเข้าใจ

ธรรมะเกิดปรากฏอยู่ทุกขณะ แม้ขณะนี้แต่ไม่เคยรู้เลย ธรรมะเกิดปรากฏทางตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ขณะที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดใน 6 ทวารแล้วผ่านเลยไปตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จนกระทั้งถึงวันจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักธรรมะจากสิ่งที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันนี่เอง

ธรรมะเกิดขึ้นปรากฏ ทำหน้าที่ของตนๆ เรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมชาติของตนอย่างนั้น ไม่ใช่ใครจะไปปฏิบัติธรรม หรือ ไม่ใช่เราจะปฏิบัติธรรม

การเริ่มศึกษาพระธรรมมิให้ติดอยู่ที่ภาษา คำศัพท์ พยัญชนะ หรือตำรา นั่นเป็นเพียงสื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจตรงกันเท่านั้น ธรรมะที่แท้เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ได้ เพราะภาษาเป็นการใช้คำเพื่อแทนสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจเพื่อการสั่งสอนด้วยภาษามนุษย์ การศึกษาโดยอ่านตำรา จำเรื่องราวได้ แต่ไม่รู้จักเข้าใจ มีความเห็นถูกเข้าใจถูกในธรรมะได้เลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรม โดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ วัดพันเตา จังหวัดเชียงใหม่

ประโยชน์สูงสุดในการเป็นพุทธศาสนิกชน คือศึกษาคำสอน ซึ่งต้องเข้าใจตั้งแต่คำแรก คำว่า "ธรรมะ" ถ้าเราไม่มีความเห็นตรงและถูกต้อง เราจะไม่พบ "ธรรมะ" เลย และไม่ได้ "สาระ" จาก "ธรรมะ" ด้วย.. เบื้องต้น ที่เป็นความเห็นถูก ก็จะนำไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น.

ถึงแม้เราจะอ่านพระธรรมมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้า "ความเข้าใจขั้นต้น" ของเราไม่ถูกต้อง ยังมีความสงสัย คลางแคลง ความเข้าใจถูกที่จะเพิ่มขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย.

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น คำว่า "ธรรมะ" อย่าเพิ่งผ่านไป เพราะว่าเราชินกับคำนี้มานานตั้งแต่เกิด เราได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เราเข้าใจคำนี้จริงๆ หรือเปล่า?

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครมีปัญญาเสมอเหมือนพระองค์ เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาธรรมะ ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ อย่างละเอียด รอบคอบ โดยไม่คิดว่าปัญญาของเรามีมากพอที่จะอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้เข้าใจทั้งหมด เพราะเหตุว่า ปัญญาของเราไม่ถึงระดับนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 พ.ย. 2551

"ธรรมะ" หมายถึงสิ่งที่มีจริง

จริงเมื่อไร เมื่อกำลังปรากฏ ถ้าขณะนี้ไม่ปรากฏ สิ่งนั้น มีจริงหรือเปล่า มีจริงไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถึงแม้รู้ว่า "ธรรมะ" เป็นสิ่งที่มีจริง ก็ต้องมีจริง ในขณะที่กำลังปรากฏ ถ้า "ธรรมะ" นั้นไม่เกิด ก็ปรากฏไม่ได้ สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ต้องเกิด และถ้าศึกษาต่อไป จะทราบว่า การเกิดขึ้นของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ต้องตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 19 พ.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 พ.ย. 2551

ฟังอยู่ด้วยดี เป็นผู้ไม่ประมาท

ก็แม้ฟังอยู่ด้วยดีอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท ด้วยการไม่อยู่ปราศจากสติ และมีปัญญาเครื่องสอดส่อง ด้วยความเป็นผู้รู้สุภาษิตและทุภาษิตนั่นแล ย่อมได้ปัญญา บุคคลนอกนี้ ย่อมไม่ได้ปัญญา

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาส เล่ม ๑ ภาค ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Kanjana.B
วันที่ 18 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 18 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คุณ
วันที่ 12 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Sam
วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 22 ต.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ