เห็นกายด้วยอำนาจอย่างคนเขลา

 
สารธรรม
วันที่  17 พ.ย. 2551
หมายเลข  10423
อ่าน  2,019

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๖๐

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


เห็นกายด้วยอำนาจอย่างคนเขลา

การที่สติไม่ค่อยจะเกิดระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยความเป็นปฏิกูลหรือว่า โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนานั้น ก็เป็นเพราะแม้ว่าจะมองเห็นว่า ที่กายนี้มีส่วนต่างๆ ปรากฏ แต่ก็ยังมีความสำคัญทุกอย่างในส่วนต่างๆ ของกายที่ประชุมรวมกัน ในสักกายะ คือการประชุมของส่วนต่างๆ ของกายของปุถุชน

ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณ-ณาสก์ มูลปริยายสูตร มีข้อความว่า ...

ความสำคัญทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในสักกายะของปุถุชน เพราะว่าไม่รู้สักกายะตามความเป็นจริงว่า รูปที่ต้องแตกทำลาย น่ารังเกียจนั้น เป็นทุกข์ แต่ผู้เขลาก็ย่อมยึดถือด้วยอำนาจกำหนดหมาย โดยความเป็นของงาม และเป็นสุข

วันนี้ทั้งวันนี้ จะคิดถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยอำนาจกำหนดหมายโดยความเป็นของงาม ที่แน่นอน เป็นประจำวัน เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะของผู้เขลา เพราะฉะนั้นจึงมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจแห่งตัณหา ด้วยอำนาจของความพอใจในส่วนต่างๆ ของกาย เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ

ซึ่งตามธรรมดา ทุกคนย่อมจะเห็นว่าไฟเป็นของร้อนเข้าใกล้ไม่ได้ อันตราย ต้องเกิดความทุกข์ เพราะจะต้องถูกไฟไหม้ แต่ทำไมแมลงเม่าจึงบินเข้ากองไฟ? ด้วยความต้องการ ด้วยความยินดี ด้วยความปรารถนา ฉันใดส่วนต่างๆ ของกาย ซึ่งประชุมรวมกันเป็นรูป ซึ่งต้องแตกทำลาย น่ารังเกียจนี้ เป็นทุกข์ แต่ผู้เขลาไม่เห็น จึงยึดถือด้วยอำนาจกำหนดหมาย โดยความเป็นของเที่ยงและเป็นสุข

ทั้งๆ ที่ควรจะเห็นจริงๆ ว่า เป็นทุกข์ เพราะว่าต้องบริหารทุกส่วนของกาย แล้วเมื่อมีความยินดีพอใจในสักกายะนี้ ในส่วนต่างๆ นี้แล้ว ในร่างกายนี้แล้ว ก็ย่อมติดในนิจสัญญา คือ เห็นว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เมื่อเห็นว่าเที่ยง ก็ย่อมจะมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจของมานะ เหมือนสุนัขกำหนดหมายหลุมคูถว่าเป็นของเราหรือว่าพอใจในสภาพที่เป็นปฏิกูลนั้น

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องสืบต่อไปถึงการเห็นสักกายะว่าเป็นตน เมื่อมีการกำหนดหมายด้วยความยินดีซึ่งเป็นตัณหา ด้วยอำนาจของมานะแล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจของความเป็นตัวตน ด้วยอำนาจของทิฏฐิ เหมือนการกำหนดภาพที่ปรากฏในกระจก มีไหมคะ ภาพในกระจก? เราหรือเปล่าคะ ในกระจก? ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้ว่าไม่มีตัวเราในกระจก แต่เวลาที่เห็นกระจก ทุกครั้งเคยคิดอย่างนั้นหรือเปล่าว่า ไม่ใช่เราที่อยู่ในกระจกนั้น ไม่ใช่เรา เคยคิดอย่างนั้นหรือไม่คะ? สำหรับคนที่มีความเห็นผิดก็เช่นเดียวกัน เห็นสักกายะทั้งหมด แล้วก็ยึดถือว่าเป็นตน เห็นตนในตน เหมือนการกำหนดภาพที่ปรากฏในกระจก นี่เป็นการยึดถือที่เหนียวแน่นมาก แม้ไม่มีตัวตนในกระจก ก็ยึดถือว่าเป็นเราในกระจก

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ในกระจก กำลังนั่งอยู่ที่นี่ล่ะคะ ก็ยิ่งต้องเป็นเรา เพราะฉะนั้น การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ย่อมจะมากมาย เหนียวแน่น มั่นคง แน่นแฟ้นมากยากแก่การที่จะละ คำว่า มนฺยนา หมายถึงการสำคัญ การกำหนดหมายเป็นชื่อของบ่วงมารที่ละเอียด สุขุม บ่วงมารอันละเอียดสุขุมนั้น มีลักษณะหย่อน แก้ได้ยาก เปลื้องได้ยาก จึงผูกมัดปุถุชนไว้ ถึงแม้จะดิ้นรนมากเท่าไร ก็ไม่พ้นสักกายะไปได้ เหมือนสุนัขที่เขาผูกไว้ ด้วยเครื่องผูกที่เหนียวแน่นซึ่งไม่สามารถจะพ้นจากหลักที่ฝังไว้อย่างมั่นคงได้ ยากเหลือเกินที่จะเห็นว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตน เหนียวแน่นเหลือเกิน ไม่ว่าจากทางตา ไปถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถึงส่วนต่างๆ ที่ปรากฏ ก็ยังคงผูกพันไว้ ด้วยความเป็นตัวตนอย่างยิ่ง

มนฺฏิโน สักการะย่อมเบียดเบียนอยู่เป็นนิจ ด้วยชาติชราและความทุกข์ทั้งหลาย มีโรค เป็นต้น การที่ท่านทั้งหลายตามเห็นสักกายะ โดยความเป็น อสาตะ คือโดยเป็นสภาพที่ไม่น่าชื่นใจ โดยความเป็น เภทะ คือ โดยสภาพที่แตกทำลาย โดยความเป็นอนัตตา คือ โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เรากล่าวว่า อันนั้นเป็นความเจริญของท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ลองคิดเปรียบเทียบดูว่า เห็นส่วนต่างๆ ของกาย สักกายะที่ประชุมรวมกัน โดยอำนาจอย่างคนเขลา หรือว่า อย่างผู้ที่เป็นไปด้วยความเจริญคือ เห็นโดยสภาพที่เป็น อสาตะ ไม่น่าชื่นใจ โดยสภาพที่เป็นเภทะ แตกทำลาย โดยสภาพที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน

สักกายะ ๔ อย่าง

ส่วนคือ สักกายะ ๑ คืออุปาทานขันธ์ ๕ .ส่วนคือ ความเกิดขึ้นแห่งสักกายะ ๑ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ส่วนคือ ความดับแห่งสักกายะ ๑ คือความดับโดยการสำรอกซึ่งตัณหานั้นนั่นแหล่ะไม่มีเหลือ ส่วนคือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสักกายะ ๑.
คืออริยมรรคมีองค์ ๘

(ข้อความบางตอนจาก) ว่าด้วยส่วน คือ สักกายะ ๔ อย่าง

๑. อันตสูตร

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ เพื่อความหลุดพ้น [ปริมุจจิตสูตร]

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
WS202398
วันที่ 17 พ.ย. 2551

เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาเห็นผู้หญิงบางคนแล้วมีความเห็น มีความหมายรู้ว่าสวย ทั้งๆ ที่ในทางเหตุผล พิจารณาแล้วร่างกายนี้ เมื่อเพ่งผ่าออกดูแล้วนอกจากโดยสัญญาทั่วไปไม่อาจเรียกว่าสวยได้แล้ว ยังน่ากลัวขนพองสยองเกล้าเพราะผมเป็นคนกลัวศพมาก คงจะเป็นเพราะจิตใต้สำนึกนึกโยงไปถึงตัว หรือความตายที่คนธรรมดาย่อมกลัว แต่ศพไก่ศพปลาไม่กลัว เอาเข้าไปนั้น

ตอนเด็กกลัวแม้กระทั่งรูปหัวกระโหลกไขว้ที่กล่องขดยาจุดกันยุงเป็นถึงอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองสักวันก็ต้องเป็นอย่างนั้นกลับไม่กลัวตัวเอง หรือว่าพิจารณาน้อยไปเมื่อเทียบกับที่สั่งสมว่าสวยว่างามมามาก ใจมันดื้อมันบอกว่าใช่สิ ผ่าเพ่งเข้าไป ไม่มีสวย น่ากลัวด้วยซ้ำมันก็ยอมรับว่าจริง แต่มันก็บอกอีกว่าก็ตอนยังไม่ผ่าเพ่งนั้นล่ะยังสวยดีเช่นนี้ ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะความยินดีพอใจนั้นมิได้อยู่ที่รูปที่เห็นทางตาเท่านั้น มันผสมกับกิริยาท่าทางการคิดปรุงแต่งในจิตอีกรอบหนึ่งด้วย จะเจริญอสุภกรรมฐานก็คิดว่าได้ผลดี เพราะเคยเห็นภาพมาบ้างก็ เปลี่ยนสัญญาได้เยอะเหมือนกัน แต่ก็กลัวไม่ค่อยกล้าดูภาพที่หวาดเสียวมากๆ

จำได้นิดหนึ่งว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขณะปฏิบัติธรรมในป่า ไม่แน่ใจว่าพระองค์เหมือนกับว่าเที่ยวไปตามแหล่งที่พระองค์คิดว่าน่ากลัว แล้วที่นั้นๆ ก็น่ากลัวมาก พระองค์กล่าวว่า น่าขนพองสยองเกล้า แต่แล้วพระองค์ก็เอาชนะได้ เป็นความกล้าหาญอย่างมากที่กล้าไปในที่ที่น่ากลัวอย่างนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สุภาพร
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 19 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
choonj
วันที่ 19 พ.ย. 2551

เป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เป็นคนเขลา แล้วเราก็เป็นอย่างนี้มานานแสนนานจนยากที่จะแก้ไข จมอยู่ในตันหาความต้องการ แล้วตัณหาก็ให้รางวัลทำให้ติดข้องยิ่งขึ้นอีก เหมือนคนติดฝิ่นที่ได้เสพแล้วก็จะสบายเป็นรางวัล ถึงแม้นยังเสพอยู่แต่วันนี้เราได้พบธรรมที่จะช่วยให้พ้นไปจากการติดข้องนี้ จึงต้องรีบศึกษา เพราะเวลามีน้อยเต็มทีแล้ว ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 19 พ.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nida
วันที่ 20 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ