สภาพธรรมที่รู้ในขณะระลึกรู้

 
WS202398
วันที่  18 พ.ย. 2551
หมายเลข  10428
อ่าน  1,165

ต้องยอมรับว่าการจะมีสติอยู่ทุกขณะเช่นพระอรหันต์นั้น เป็นสิ่งอัศจรรย์จริงๆ แต่ท่านก็ไม่ต้องเพียร เพราะท่านไม่มีกิเลสแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่นี่ต้องใช้ความเพียรมากเท่ามากทีเดียวเพื่อให้ระลึกรู้สภาพธรรมต่างๆ ตามที่ปรากฏ

ผมได้เพียรบ้างตามกำลัง ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่างๆ ขณะที่ระลึกรู้ก็เห็นถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเช่นเสียงหนึ่งปรากฏแล้วก็กลับไม่ปรากฏ เพราะมีสิ่งอื่นปรากฏต่อๆ กันไปเช่นนี้แต่ก็ไม่ต่อเนื่องโดยมากหลงลืมมากกว่า บางครั้งไม่น่าเชื่อจากขณะที่ระลึกรู้เช่นนี้ ขณะต่อไปกับปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ไปตามอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ เป็นเรื่องราวต่างๆ ไปได้ ขณะที่ระลึกรู้ก็เห็นว่าขันธ์ 5 ที่ปรากฏไม่มีลักษณะที่เป็นตัวตน แต่เจตนา นี้มีแนวโน้มที่จะเห็นว่าเป็นตัวตนอยู่

อยากจะทราบว่า จริงอยู่หรือไม่ที่จิตทุกดวงประกอบด้วยเจตนาเจตสิก แล้วขณะที่โดยภาษาทั่วไปที่ว่า เราตั้งใ จเราเจตนาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือทางใจนั้น เจตสิกใดที่ทำให้เห็นว่าสภาพธรรมเช่นนั้น คือ ความตั้งใจเป็นเจตนา

คำกล่าวทั่วไปที่ว่าไม่เจตนานั้น ในทางปรมัตถ์มีหรือไม่

ในบรรดาเจตสิกทั้งหลาย เจตลิกใดบ้างที่ร่วมกำหนดว่าจิตแต่ละดวงนั้นจะทำกรรมขึ้น

จิตทุกดวงมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

จิตทุกดวงเป็นกรรมหรือไม่

ถ้ามีจิตที่ไม่เป็นกรรม จิตดวงนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

ในทางปรมัตถ์นั้น จิตที่เป็นกรรมซึ่งประกอบด้วยการเคลื่อนไหวทางกาย หรือทางวาจาหรือเป็นเฉพาะในทางใจ ต่างกันอย่างไรหรือไม่

การสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ต่างกันอย่างไรในวิธีการ ถ้าจะกล่าวว่าสำรวมใจอย่างเดียวก็ได้กาย วาจา ไปในตัวถูกหรือไม่

การแบ่งแยกสภาพธรรมเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เพื่อวัตถุประสงค์ได้ มีประโยชน์อย่างไร มีนัยในทางการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 19 พ.ย. 2551
เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะนั้น ท่านมุ่งหมายถึงเจตนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต และ กุศลจิต คือ ความตั้งใจกระทำดีและกระทำชั่ว ทางทวารกาย วาจา ใจ ชื่อว่า กรรม ส่วนคำกล่าวทั่วไปที่ว่าไม่เจตนานั้น ในทางปรมัตถธรรมไม่มีขณะจิตไหนที่ขาดเจตนาแต่มิได้หมายความว่าเจตนาที่เกิดพร้อมกับจิตทุกขณะจะมีผลคือวิบากทั้งหมด ดังนั้นในชีวิตประจำวันที่เรากระทำสิ่งต่างโดยทำให้สัตว์ตาย โดยที่เรามิได้ตั้งใจฆ่ามันก็มีอยู่เช่น กำลังเดินอยู่ เท้าไปหยียบมดหรือแมลงสาบตาย ซึ่งต่างกับคนที่เขาตั้งใจฆ่ามดหรือแมลงสาบ ส่วนผู้ที่ตั้งใจงดเว้นการการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้นชื่อว่าสำรวมกาย แต่ในทางพระวินัยละเอียดกว่านี้อีก ส่วนทางวาจาก็เช่นกัน เจตนาเว้นจากการพูดโกหก เว้นการพูดสือเสียด เป็นต้น ชื่อว่าสำรวมวาจา ทางใจก็มีนัยเดียวกันกับอกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ จำแนกตามทวารที่แตกต่างกัน อนึ่งสติปัฏฐานก็เป็นมโนกรรม และ บางพระสูตรแสดงว่า สุจริต ๓ เป็นอาหารของสติปัฏฐาน
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
majweerasak
วันที่ 19 พ.ย. 2551

พิมพ์ไม่เก่งครับ ขอร่วมแสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมา คงไม่เป็นเหตุให้ท่านที่ร่วมสนทนาเกิดโทสะนะครับ

พระธรรมที่ทรงแสดงมีความละเอียด ลึกซึ้งการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จะทำให้ค่อยๆ ละความไม่รู้ และ ความเห็นผิด และ ช่วยถอนความเข้าใจผิดในสิ่งที่เคยเข้าใจ แต่ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ ต้องยอมรับว่าการจะมีสติอยู่ทุกขณะ เช่น พระอรหันต์นั้น เป็นสิ่งอัศจรรย์จริงๆ พระอรหันต์ไม่ได้มีสติเกิดร่วมกับจิตทุกขณะครับแต่ท่านก็ไม่ต้องเพียร เพราะท่านไม่มีกิเลสแล้ว พระอรหันต์ก็ยังมีความเพียร (วิริยเจตสิกเกิดร่วมกับจิต) อยู่นะครับ แต่ท่านไม่ได้เพียรเพื่อละกิเลส แต่สำหรับผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่นี่ ต้องใช้ความเพียรมากเท่ามากทีเดียว เพื่อให้ระลึกรู้สภาพธรรมต่างๆ ตามที่ปรากฏ

เมื่อศึกษาให้เข้าใจแล้ว ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครใช้ความเพียรได้ เพราะความเพียรเกิดและดับไปเร็วเกินกว่าที่จะมีใครไปทำอะไรได้ และเกิดขึ้นอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่จะเพียรไปในเรื่องใดเท่านั้นเอง

ผมได้เพียรบ้างตามกำลัง ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่างๆ ขณะที่ระลึกรู้ก็เห็นถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเช่นเสียงหนึ่งปรากฏแล้วก็กลับไม่ปรากฏ การประจักษ์การ เกิดขึ้น ของธรรม ต้องเป็นปัญญาขั้นวิปัสนาญาณ

เพราะมีสิ่งอื่นปรากฏต่อๆ กันไปเช่นนี้แต่ก็ไม่ต่อเนื่องโดยมากหลงลืมมากกว่า บางครั้งไม่น่าเชื่อจากขณะที่ระลึกรู้เช่นนี้ ขณะต่อไปกับปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ไปตามอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ เป็นเรื่องราวต่างๆ ไปได้ ขณะที่ระลึกรู้ก็เห็นว่าขันธ์ 5 ที่ปรากฏไม่มีลักษณะที่เป็นตัวตน การรู้ธรรมโดยความเป็น ขันธ์จริงๆ นั้นไม่ง่ายเลยครับ

ขออภัยหากการแสดงความเห็นข้างต้นเป็นเหตุให้ ท่านผู้อ่านเกิดอกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 20 พ.ย. 2551

ขอตอบตามความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ

พระอรหันต์มีปกติอยู่ด้วยสติ ท่านจะไม่หลงลืมสติเหมือนกับผู้ที่ยังมีอกุศล แต่ถ้าโดยพระอภิธรรม ถ้าเข้าใจกันก็พูดได้ว่า ท่านมีสติโดยตลอด แต่ก็หมายถึงว่า ...เว้นจิตบางดวงที่ไม่มีสติเกิดร่วมด้วยไว้ในตัว ซึ่งก็ได้แก่ อเหตุกวิบากจิต ๑๘ ดวงครับ พระอรหันต์ท่านไม่มีกิจที่จะต้องมาเพียรดับกิเลสอีก เพราะท่านปลงภาระลงได้แล้ว ตัดรากตัณหา ถอนโคนอวิชชา และดับกิเลสทุกประการได้อย่างเป็นสมุจเฉทท่านจึงเปรียบเสมือนลูกจ้างที่รอเวลาเลิกงาน คือรอเพียงกาลที่จะปรินิพพาน แต่เวลาชีวิตที่เหลืออยู่ของท่าน ก็ไม่ได้สูญไปอย่างเปล่าประโยชน์เลย ความเพียรที่เกิดร่วมกับกิริยาจิตของพระอรหันต์บางท่าน ก็ยังคงเป็นไปเพื่อการเกื้อกูลผู้อื่นด้วยเมตตา หรือช่วยผู้ที่ประสบทุกข์ได้ยากด้วยความกรุณา ยกตัวอย่างเช่น ท่านพระสารีบุตร เป็นต้นครับ
สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ก็ยังจะต้องอบรมเจริญความเข้าใจธรรมะในชีวิตประจำวันต่อไป โดยรู้ว่าความเพียรที่เกิดร่วมกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาในขั้นฟังก่อนเท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ถูกในสิ่งที่ควรเพียรมากขึ้น ถ้าไม่เกิดปัญญาในขั้นฟังตั้งแต่ต้น การปรารภความเพียรนั้น ก็ย่อมจะสูญเปล่า เพราะไม่ใช่การเพียรบนหนทางแห่งการละอกุศล สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้น จึงจะรู้ชัดว่าเป็นรูปธรรม หรือ นามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่ากว่าที่จะรู้ ก็เหมือนกับการจับด้ามมีดที่ยากที่จะรู้ว่าสึกไปเท่าไร ยาวนานเหมือนกับการนำผ้าไหมกาสีผืนบางๆ ที่ ๑๐๐ ปี ไปลูบภูเขาสิเนรุ ๑ ที ลูบไปจนกว่าจะกร่อน พระธรรมของพระผู้มีพระภาคจึงลึกซึ้งมาก ไม่ง่ายที่ใครจะเข้าถึงได้ในเวลาอันรวดเร็วเลย แม้เพียงการจะเห็นจริงๆ ว่าไม่ใช่เราอย่างไรในขั้นฟัง ขั้นคิด ก็ยังจะต้องอาศัยการสั่งสมด้วยการฟัง และการไตร่ตรองพิจารณาธรรมวันละเล็ก วันละน้อย เพราะฉะนั้น ขั้นที่สูงกว่านี้ ที่จะสามารถเข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องยากทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ง่ายดายที่จะรู้ได้รวดเร็วแน่นอน หมายเหตุ : การรู้การดับไปของสภาพธรรมนั้น ได้แก่ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔ มีชื่อว่า อุทยัพพยญาณ เป็นพลววิปัสสนา เป็นผลของการสะสมปัญญามาไม่น้อยเลยเรียกได้ว่า ระดมกำลังของปัญญาที่เคยสะสมมาทั้งหมด รวมทั้งการสะสมของปัญญาที่ได้เคยประจักษ์แจ้งสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ มาเลยทีเดียว ก็ดูแล้วจะยังอีกยาวไกลครับ คิดว่า เหตุยังต้องอบรมอีกนาน กว่าจะสมควรแก่ผล จึงควรที่จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่หวังผล และไม่ประมาทในการศึกษาธรรมในขั้นของปริยัติดีกว่าครับเพราะต้องละเอียด และต้องตรงด้วย ไม่อย่างนั้นความต้องการผล จะชักจูงให้เราปฏิบัติผิดไปจากหนทางเพื่อความหลุดพ้น (มรรคมีองค์ ๘) ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nida
วันที่ 20 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
WS202398
วันที่ 20 พ.ย. 2551

ขอขอบพระคุณ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 21 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ . . .

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ