ผู้ที่ไม่ควรประมาท

 
สารธรรม
วันที่  21 พ.ย. 2551
หมายเลข  10464
อ่าน  1,464

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ครั้งที่ ๗๙๓

บรรยายโดย ...ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


... ผู้ที่ไม่ควรประมาท ...

ท่านผู้ฟังแสวงหาวิบากหรือเปล่าคะ? หรือว่ารู้แล้วว่า แล้วแต่เหตุ เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะประกอบกรรมดียิ่งขึ้น ไม่ควรจะคิดว่าพอแล้ว เพราะทานเป็นการกระทำ โดยสละวัตถุปัจจัยเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเพียงเล็กน้อย ไม่มาก เพราะไม่มีใครสามารถที่จะสละได้หมด หรือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะสละได้มากอย่างที่หวัง ถึงแม้ว่าจะมีคาถา หรือคำที่พรรณนาเรื่องของการให้ทาน และอานิสงส์ของทานสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะทำให้ทานเกิดได้ทันทีเสมอไป หรือว่ามากเท่าที่ควรจะเป็น

แม้แต่เรื่องของทาน ยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลประการอื่นๆ นี้ ก็ควรที่จะทราบว่า ควรที่จะอบรมเจริญ โดยไม่ประมาทจริงๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่ต้องการผลที่ดีคือ อิฏฐารมณ์ ไม่มีใครต้องการอนิฏฐารมณ์เลย แต่ทุกคนนี้ ไม่รู้ว่าวันไหน อนิฏฐารมณ์จะเกิดทางตา หรือทางหูหรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรประมาท เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่องเหตุและผล เรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏฏ์น้อยลง


ในสมัยพุทธกาล พราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับและได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า" คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผลหรือหนอ ก็คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผลหรือ "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ โวหารนี้ว่า "คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผล" เป็นส่วนสุดที่หนึ่ง * โวหารนี้ว่า "คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผล เป็นส่วนสุดที่สอง * ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้น


จากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฏิจจสมุปปาทแก่พราหมณ์นั้นเมื่อกาลแห่งเทศนาจบลง พราหมณ์นั้นกราบทูลพระองค์ว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งยิ่งนักข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ข้อความบางตอนจาก ๖. อัญญตรสูตรว่าด้วยทำเหตุอย่างใดได้รับผลอย่างนั้น [เล่มที่ 26] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๒๙

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ทำเหตุอย่างใดได้รับผลอย่างนั้น [อัญญตรสูตร]

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์

( * ส่วนสุด คือ ความเห็นผิดว่า เป็น "คน" ทำกุศล / เป็น "คน" ทำอกุศลแล้วเป็น "คน" ได้รับผลของกุศล / เป็น "คน" ได้ผลของอกุศล)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 21 พ.ย. 2551

จงเริ่มพยายามขวนขวายในพระพุทธศาสนา

จงกำจัดเสนาของมัจจุมาร

เหมือนกุญชรช้างประเสริฐ ย่ำยีเรือนไม้อ้อฉะนั้น

ผู้ใดไม่ประมาท เห็นแจ้งในพระธรรมวินัยนี้

ผู้นั้นจักละชาติสงสาร จักทำที่สุดทุกข์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 21 พ.ย. 2551

สาธุ

ผมเข้าใจว่า ในพระสูตรนี้

ส่วนสุดที่หนึ่ง คือ หากทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับวิบากของกรรมนั้นแล้ว ย่อมมี อัตตาที่ เที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่สูญหาย กระทำกรรมและยังตามมารับวิบากของกรรมนั้น

ส่วนสุดที่สอง คือ ในเมื่อ ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ ยั่งยืน

ดังนั้น เมื่อขันธ์ 5 เดิม ทำกรรมไว้ แต่ขันธ์ 5 อื่นต่างหาก (จากขันธ์ 5 เดิม) ย่อมเป็นตัวรับวิบากของกรรมนั้น ชื่อว่า มีการรับวิบากแห่งกรรมที่ตนไม่ได้กระทำเพราะขันธ์ 5 เดิม ดับไปแล้ว

ทางสายกลาง คือ ไม่มี อัตตาด้วย ไม่ใช่ขันธ์ 5 อื่นต่างหากจากขันธ์ 5 เดิมด้วย แต่สังขารธรรมนี้ เกิดดับสืบต่อกันมาโดย อาศัยเหตุปัจจัย มาจากสังขารธรรมเดิมที่ได้ทำกรรมไว้ สังขารธรรมนี้ จึงรับวิบากของกรรมนั้น ในฐานะที่กรรมเป็นเหตุปัจจัยแห่งสังขารธรรมชนิดหนึ่ง (คือวิบาก) ดังนี้ ใช่ไหม

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ -

พระปัจฉิมวาจา

[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอ จงยังความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา ของพระตถาคต

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 พ.ย. 2551

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร [มหาวรรค]



 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 22 พ.ย. 2551

ในอรรถกถา ท่านไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้มากครับ แต่พระสูตรถัดจากพระสูตรนี้ก็เป็นโดยนัยเดียวกันที่พราหมณ์ผู้ที่มีความเห็นผิด ไปกราบทูลถามปัญหา ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจยิ่งขึ้น ก็คงจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิจจสมุปปาท และ ทิฏฐิ ๖๒ ประเภทครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 22 พ.ย. 2551
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 5 โดย ajarnkruo

ในอรรถกถา ท่านไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้มากครับ แต่พระสูตรถัดจากพระสูตรนี้ก็เป็นโดยนัยเดียวกันที่พราหมณ์ผู้ที่มีความเห็นผิด ไปกราบทูลถามปัญหา ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจยิ่งขึ้น ก็คงจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิจจสมุปปาท และ ทิฏฐิ ๖๒ ประเภทครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 25 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 27 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ