บุญญกิริยาวัตถุ - ทาน (๑)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และคุณวันทนา ทิพวัลย์ จากหนังสือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ในชีวิตประจำวันของท่านท่านเคยเกิดปัญหาข้องใจ เรื่องการให้ทานบ้างไหมว่าสำหรับผู้ที่มีฐานะดีหน่อยและมีความยินดีเต็มใจ ที่จะสละทรัพย์และวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ก็ย่อมจะทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ซึ่งขัดข้องในทางเศรษฐกิจมีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย การให้ทานจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะคงจะไม่ใช่ให้บริจาคอะไรๆ ไปจนหมด
ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีความพอดี ตามควรแก่เพศ และฐานานุรูป ของแต่ละบุคคล การกระทำทุกอย่างเกินความพอดีตึงเกินไป หรือว่าหย่อนเกินไปก็จะนำความทุกข์ ความเดือดร้อนใจมาให้ได้ คุณวันทนามีอะไรบ้างที่ชอบมาก
คุณวันทนา ดิฉันมีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่ง รักมากเพราะต้องใช้ประโยชน์ ดูเวลาอยู่เรื่อยๆ .ท่านอาจารย์ถ้าบริจาคให้ใครไป คงจะเสียดายมาก.!คุณวันทนาคงจะเสียดายมาก หลายวันเลยทีเดียว
ท่านอาจารย์ ฉะนั้น ในการให้แต่ละครั้ง ก็จะต้องรู้ด้วยว่าเมื่อให้ไป กุศลจิตเกิดน้อย หรือ อกุศลจิตเกิดมาก หรือว่า เมื่อให้ไปแล้ว กุศลจิตเกิด มากกว่า อกุศลจิต เพราะถ้าให้อะไรไปแล้ว กุศลจิตเกิด มากกว่า อกุศลจิต ย่อมจะดีกว่าแต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็มุ่งที่จะให้ หรือ ไม่คิดที่จะให้เสียเลยโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล หรือ ไม่คำนึงถึง กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ที่จะเกิดภายหลังก็ย่อมเป็นการให้ที่ตึงเกินไป หรือหย่อนไปซึ่งก็ย่อมทำให้เกิดทุกข์ขึ้นภายหลังได้
คุณวันทนา สงสัยที่ว่าหย่อนไปน่ะ เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่หย่อนไปคือ เสียดายทุกอย่างที่จะให้ ซึ่งก็ทำให้ ทานกุศลเกิดน้อย และถ้าจะให้ได้ ก็ให้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยนิดๆ หน่อยๆ นานๆ ครั้งหนึ่ง และไม่รู้ว่า ทานกุศลแต่ละครั้งนั้นเป็นการขจัดความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นกิเลส ที่หมักหมมอยู่ในจิตใจ
คุณวันทนา ถ้าหากว่า อยากจะขจัดกิเลสออกมากๆ มีอะไรก็ให้ไปหมด อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นการตึงไปไหม.?ท่านอาจารย์แล้วแต่เพศ และฐานะของบุคคลอย่างท่านที่เป็นเพศบรรพชิตนั้นท่านก็สละบ้านเรือน วัตถุปัจจัยต่างๆ ของเพศคฤหัสถ์จนหมดสิ้นแล้วเพราะฉะนั้น ถึงท่านจะได้สิ่งของใดมา จนเกินใช้ท่านก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละให้เป็นประโยชน์ แก่พระภิกษุรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีวร อาหาร บิณฑบาต หรือวัตถุปัจจัยอื่นๆ ฉะนั้น สำหรับพระภิกษุ ก็ไม่เป็นการตึงเกินไป
แต่ว่าสำหรับคฤหัสถ์นั้น ก็ต้องแยก เพราะเหตุว่าผู้ที่มีอัธยาศัยในทานกุศลเห็นคุณประโยชน์ของการให้ว่า เป็นการขัดเกลากิเลสตนเองก็ย่อมเจริญทานกุศลยิ่งขึ้น ในทุกๆ ทาง และเมื่อสละให้ไปแล้ว ก็ไม่มีความหวั่นไหว ไม่เศร้าหมองไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะ เจตนาในการให้นั้น ผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือ ทั้งในขณะที่คิดจะให้ ขณะที่กำลังให้ และขณะภายหลังให้แล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้ ถึงจะให้อะไรๆ สักเท่าไร ก็ไม่เรียกว่า ตึงเกินไปเพราะไม่มีอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากการให้ทานนั้นในภายหลัง แต่ตรงกันข้าม ผู้ที่จิตใจยังไม่มั่นคงเมื่อให้อะไรไปแล้ว ก็เกิดเสียดายในภายหลัง จิตใจก็เศร้าหมอง เป็นทุกข์และเป็นอกุศล มากกว่า กุศลในกรณีอย่างนี้สำหรับผู้นั้น ก็เป็นการตึงไป
ขออนุโมทนา
อ่านดีมากครับ ชอบเรื่องบุญกิริยาวัตถุด้วยที่ท่านอาจารย์สนทนากับคุณวันทนา
อนุโมทนาครับ