กิงสุกสูตร .. เหตุเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒๙ พ.ย. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ
กิงสุกสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๖๒
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๖๒
กิงสุกสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖
[๓๓๙] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล. ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดี ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และ ความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริงที่นั้นแล ภิกษุนั้นไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล. ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ที่นั้นแล ภิกษุนั้นไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดี ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งมหาภูตรูป ๔ ตามความเป็นจริง ที่นั้นแล ภิกษุนั้นไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงไรหนอแล. ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา. [๓๔๐] ทีนั้นแล ภิกษุไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงไร. เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิดและความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง. ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไร. เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งมหาภูตรูป ๔ ตามความเป็นจริง. ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไร. เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ขอทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงไรหนอแล. [๓๔๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บุรุษยังไม่เคยเห็นต้นทองกวาว บุรุษนั้นพึงเข้าไปหาบุรุษคนใดคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร. บุรุษนั้นพึงตอบว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวดำเหมือนตอไฟไหม้ ก็สมัยนั้นแล ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็นทีนั้นแล บุรุษนั้นไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของบุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญต้นทองกวาวเป็นเช่นไร. บุรุษนั้นพึงตอบว่า ต้นทองกวาวแดงเหมือนชิ้นเนื้อ ก็สมัยนั้น ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็นทีนั้นแล บุรุษนั้นไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาของบุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญต้นทองกวาวเป็นเช่นไร. บุรุษนั้นพึงตอบอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญต้นทองกวาวที่เกิดนานมีฝักเหมือนต้นซึก ก็สมัยนั้นแล ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น ทีนั้นแล บุรุษนั้นไม่พอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของบุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญต้นทองกวาวเป็นเช่นไร. บุรุษนั้นพึงตอบว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวมีใบแก่และใบอ่อนหนาแน่น มีร่มทึบเหมือนต้นไทร ก็สมัยนั้น ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุ ทัศนะของสัตบุรุษเหล่านั้น ผู้น้อมไปแล้ว เป็นอันหมดจดดีด้วยประการใดๆ เป็นอันสัตบุรุษทั้งหลายผู้ฉลาด พยากรณ์แล้วด้วยประการนั้นๆ ฉันนั้นแล. [๓๔๒] ดูก่อนภิกษุ เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตูนายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศบูรพา พึงถามนายประตูนั้นว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญเจ้าเมืองนี้อยู่ ที่ไหน. นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศปัจจิม ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศอุดร ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศทักษิณ แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน. นายประตูนั้นพึงตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง ทีนั้นแล ราชทูตคู่หนึ่งนั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปทางตามที่มาแล้ว ดูก่อนภิกษุ อุปมานี้แล เรากระทำแล้วเพื่อจะให้เนื้อความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้ คำว่าเมือง เป็นชื่อของกายนี้ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาและบิดาเป็นแดนเกิดเจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีอันต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา คำว่าประตู ๖ ประตูเป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ คำว่านายประตูเป็นชื่อของสติ คำว่าราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน เป็นชื่อของสมถะและวิปัสสนา คำว่าเจ้าเมือง เป็นชื่อของวิญญาณ คำว่าทางสามแพร่งกลางเมือง เป็นชื่อของมหาภูตรูป ๔ คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุคำว่าถ้อยคำตามความเป็นจริงเป็นชื่อของนิพพาน คำว่าทางตามที่มาแล้ว เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
จบ กิงสุกสูตรที่ ๘
สาธุ
พระศาสดาย่อมทรงแสดงพระสัทธรรม
คล้อยตามอัธยาศัยของผู้ฟัง
ผู้ฟังจะพึงเข้าใจได้ด้วยดี โดยนัยใด
พระศาสดาย่อมทรงแสดงโดยนัยนั้น
ขอนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสละนิพพานสุข อันมีในที่ใกล้พระหัตถ์
เมื่อครั้งยังเป็นพระสุเมธโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันกระทำได้ยาก
ทรงยอมเวียนว่ายในสังสารวัฎฎ์ ตลอดกาลนาน แสนนาน
เพียงเพื่อช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุธรรมพ้นจากทุกข์ .