บุญญกิริยาวัตถุ - ทาน (๔)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คุณวันทนา ทิพวัลย์
คุณวันทนา คนที่มีวัตถุสิ่งของ พอมีพอใช้ไปวันหนึ่งๆ สำหรับตัวเองก็คงจะไม่สามารถให้ทานได้แล้วอย่างนี้ จะทำกุศลได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ คำว่า "กุศล" หมายถึงสภาพจิตใจที่ดีงามซึ่งจิตใจที่ดีงามนั้น ทำให้เกิดผลที่เป็นสุขจิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดีงามด้วยฉะนั้นถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุให้แก่คนอื่น ก็เป็นกุศลอย่างอื่นได้เพราะว่ากุศลนั้น มีหลายอย่างกุศลที่ไม่ใช่การให้ทานก็มี
ข้อสำคัญก็คือว่า จะต้องรู้ว่า จิตใจที่ไม่เป็นกุศลนั้น มีลักษณะอย่างไรและเกิดขึ้นในขณะไหนบ้างเพราะถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพของอกุศลจิตเวลาที่ไม่ได้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจาก็อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้น เป็นกุศลแล้วก็ได้
ดิฉันขอย้อนกล่าวเรื่องของทานอีกสักหน่อย พอเป็นตัวอย่างเวลาที่ให้ทาน ขณะจิตที่สละวัตถุให้นั้น เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็ย่อมจะเกิดความชอบใจ หรือ ไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นอกุศล เพราะไม่ใช่ว่าจะมีแต่ขณะจิตที่เป็นทานกุศลอยู่ตลอดเวลา
แต่ถ้าเราจะเจริญกุศล ที่เนื่องจากการให้ทาน ที่ได้กระทำไปแล้วนั้นเราก็กระทำกุศลต่อไปได้อีก โดยอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำทานนั้น ให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่ออนุโมทนา คือยินดีในกุศลที่เราได้ทำแล้ว ด้วยการอุทิศส่วนกุศลนั้น เป็นการเจริญกุศลอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ปัตติทาน" ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ผู้อื่นได้รู้และเกิดกุศลจิต ร่วมอนุโมทนาด้วยแล้วผู้ที่ทำทานกุศล ก็ยังเกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นอีกในขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น
ขออนุโมทนา