บุญญกิริยาวัตถุ - ทาน (๕)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คุณวันทนา ทิพวัลย์
คุณวันทนา การให้ทาน ครั้งหนึ่งๆ นี่ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดต่อได้อีกมากทั้งกับผู้ที่ให้ทานเอง และผู้ที่อนุโมทนาด้วย
ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำกุศลด้วยตนเอง แต่ชื่นชมยินดีด้วย ในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำจิตที่ชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่นนั้น ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ ความริษยา หรืออกุศลกรรมใดๆ การชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่นนั้นเป็นกุศลอย่างหนึ่งที่มีกุศลของผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดขึ้น.กุศลชนิดนี้ คือกุศลที่เป็น "ปัตตานุโมทนา"คือ กุศลที่อนุโมทนาชื่นชมด้วย ในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว
ฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่ได้ทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองเพียงแต่ไม่มีจิตริษยา แต่ชื่นชมยินดีในความดีหรือในการกระทำกุศลของผู้อื่นขณะนั้น จิตก็เป็นกุศลโดยไม่ต้องสละวัตถุอะไรให้ใครเลย
นอกจากนั้น ยังมีกุศลอีกทางหนึ่ง ที่เมื่อได้ทำทานกุศลแล้ว กุศลจิตก็ยังเกิดต่อขึ้นไปอีกเมื่อระลึกถึงทานกุศลที่ได้กระทำแล้ว ด้วยจิตที่สงบผ่องใสถ้าเป็นผู้กระทำกุศลอยู่เป็นนิจแล้วระลึกถึงทานกุศลที่ได้กระทำแล้วเสมอๆ จิตก็ย่อมสงบผ่องใส มั่นคงขึ้น และบางท่านจิตก็สงบมั่นคง เป็นสมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิ เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาที่เป็น "จาคานุสสติ"
คุณวันทนา ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ก็จะไม่ละโอกาสที่จิตจะเป็นกุศลแทนที่จิตจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะถูกครอบงำไปด้วยความริษยา ในการกระทำความดีของผู้อื่นเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็เป็นความดีที่ตนเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลยเพียงแต่พยายามสลัดกิเลส ที่เป็นธรรมฝ่ายไม่ดีออกไปจากจิตใจแต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็คงยาก เพราะไม่เห็นโทษของกิเลสฝ่ายต่ำว่าเป็นสิ่งที่ควรขจัดขัดเกลา หรือว่ายังไม่รู้วิธีขจัดขัดเกลาก็ได้
ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่คิดว่าไม่สามารถให้วัตถุสิ่งของเป็นทานเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เพราะตนเองมีไม่พอนั้นก็มีข้อควรพิจารณาอีกเล็กน้อยมิฉะนั้น ก็จะทำให้ขาดการเจริญกุศลด้านนี้ไปทาน การให้นั้น ไม่จำเป็นต้องให้ทรัพย์สินสิ่งของที่มีค่ามากมายขณะใดที่เผื่อแผ่สิ่งที่มีอยู่ จะน้อยหรือมาก ดีหรือเลวนั้น ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้างขณะนั้นก็เป็นกุศล และมีกำลังแรงด้วยเพราะสามารถจะเกิดขึ้นได้ แม้ในขณะที่มีของน้อย
ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ สาธุสูตรที่ ๓ ข้อ ๙๔-๑๐๑
อุปมาการให้ทานและการรบว่าเสมอกันคือ พวกวีรบุรุษ ที่เป็นคนกล้าหาญนั้นถึงแม้จะมีจำนวนน้อย ก็สามารถชนะคนขลาด ที่มีจำนวนมากได้คนที่มีศรัทธานั้น ถึงแม้ว่าจะมีของน้อย หรือมีของที่ไม่มีค่ามากมายแต่เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น ก็สามารถสละให้ผู้อื่นได้
ขออนุโมทนา
เพิ่งจะได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ
การอบรมเจริญสมถภาวนาที่เป็น "จาคานุสสติ"
ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ค่ะ
ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษาค่ะ