บุญญกิริยาวัตถุ - เวยยาวัจจะ

 
พุทธรักษา
วันที่  27 พ.ย. 2551
หมายเลข  10530
อ่าน  3,374

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากหนังสือ บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เวยยาวัจจะ คือ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น การช่วยบุคคลอื่น ให้พ้นจากความลำบาก การช่วยให้บุคคลอื่น ให้ได้รับความสะดวกสบาย การช่วยกระทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่บุคคลอื่น เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตใจที่ดีงาม เป็นกุศลเป็นกุศลได้ เพราะจิตขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะที่ช่วย ไม่มีโลภะ เพราะขณะนั้น ถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่ความพอใจ หรือความสะดวกสบายของตัวเองเท่านั้นก็คงไม่ช่วยเหลือ หรือกระทำประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ขณะที่ช่วย ไม่มีโทสะ เพราะขณะที่ช่วยเหลือ เกื้อกูลบุคคลอื่นขณะนั้นไม่มีความขัดเคือง และความไม่พอใจไม่อย่างนั้นก็คงเลิกช่วย ซึ่งการช่วย ก็ย่อมไม่สำเร็จ

ขณะที่ช่วย ไม่มีโมหะ เพราะว่า โมหะ คือ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ถ้าไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หรือ ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสงเคราะห์บุคคลอื่นได้กุศลจิตที่จะช่วยสงเคราะห์ ก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้น ในขณะที่จิตใจเป็นกุศลนั้น โมหะจึงเกิดร่วมไม่ได้

ทุกท่านคงจะเห็นสภาพที่แตกต่างกันของจิตใจที่เป็นกุศล และจิตใจที่เป็นอกุศล.จิตใจที่เป็นอกุศลนั้น มีลักษณะเดือดร้อน ดิ้นรน ไม่สงบเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่น่ารังเกียจซึ่งให้ผลเป็นทุกข์ ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นด้วย

การขัดเกลากิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นอกุศลนั้น มีตั้งแต่ ขั้นทาน ซึ่งเป็นการสละวัตถุสิ่งของ ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขั้นศีล ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ ที่เนื่องกับกาย วาจา ขั้นภาวนา ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส จนกระทั่งดับหมดสิ้น ไม่เกิดขึ้นอีกเลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 พ.ย. 2551

ถ้ากิเลส เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมก็จะไม่มีที่พอเก็บกิเลสเลย. เพราะไม่ว่าอะไรๆ ก็เป็นอารมณ์ของกิเลสหรือเป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นเลย.

ข้อสำคัญ คือว่า ถ้าไม่ขัดเกลากิเลส ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ อย่างสม่ำเสมอ ไม่เจริญกุศลทุกครั้ง ที่มีโอกาสก็ไม่มีทางที่กิเลสจะเบาบางลงได้เลย.

โอกาสที่จะเจริญกุศลมีอยู่ไม่น้อย ในชีวิตประจำวันและการเจริญกุศล ก็ไม่ขัดกับการดำเนินชีวิตในโลกนี้เลย มนุษย์ที่เกิดมาแล้ว จะพ้นจากโลกธรรม ๘คือ การได้ลาภ เสื่อมลาภได้ยศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ สรรเสริญ นินทาย่อมไม่มีเลย.ถ้าไม่มีทานกุศล กุสลศีลและ การสงเคราะห์ช่วยเหลือ คือ เวยยาวัจจะโลกนี้ ย่อมจะเดือดร้อนและ มีความทุกข์ยิ่งกว่านี้มากทีเดียว. อะไรๆ ก็ไม่มีค่าเสมอกับการตั้งมั่นอยู่ในกุศลเลยเพราะว่าทุกสิ่ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนไป ตามเหตุปัจจัยทั้งนั้นไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย.

อปจายนะ และ เวยยาวัจจะที่พุทธบริษัท พึงมี ต่อพระรัตนตรัย ซึ่ง เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุด นั้นก็ด้วย การศึกษา และ ปฏิบัติธรรมด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง

ในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร พระผู้มีพระภาค ตรัสแก่ท่านสามเณรจุนทะ และ ท่านพระอานนท์ ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใดที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งบริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุมรวบรวมตรวจตรา อรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้นโดยที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงเป็นไปตลอดกาลยืดยาวตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้น จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากเพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย. นี่ก็เป็นการศึกษาและการปฏิบัติธรรมที่ถวาย

ความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด

.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 27 พ.ย. 2551

ทรัพย์สมบัติผลัดกันชม วันนี้เป็นของเรา พรุ่งนี้เป็นของคนอื่น แต่การสั่งสมความดี คือ บุญกุศลและปัญญา สามารถติดตามเราไปในภพหน้าและภพต่อๆ ไปได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 27 พ.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 28 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ