บุญญกิริยาวัตถุ - วิปัสสนาภาวนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากหนังสือ บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
การอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ละกิเลสให้เบาบาง จนดับหมดสิ้นได้ตามลำดับ เพราะว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา หรือ การฟังพระธรรมเป็นความรู้ที่เพียงละความไม่รู้ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด (ในเรื่องราวของธรรม) เพราะไม่เคยฟังเพราะไม่เคยรู้ "เรื่องลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย" เท่านั้นเอง และความรู้ขั้นนั้น (ขั้นฟัง...พิจารณา) ยังไม่สามารถละกิเลสให้ดับหมดสิ้นได้เพราะไม่ใช่ "การประจักษ์แจ้ง" ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังเกิดขึ้นจริงๆ เช่นในขณะนี้ เป็นต้น
ถ้าตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันยังไม่ได้ดับความยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรมว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตนกิเลสอย่างละเอียดก็ยังมีประจำอยู่ในจิตตลอดเวลาถึงแม้ในขณะนอนหลับ ขณะให้ทาน ขณะรักษาศีล ขณะอบรมเจริญสมถภาวนา. ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล อบรมเจริญสมถภาวนานั้นยับยั้ง ระงับกิเลส คืออกุศลจิต ไม่ให้เกิดขึ้น ตามขั้นของกุศลนั้นๆ ขณะนั้นๆ กิเลสไม่พอกพูนเพิ่มขึ้นแต่ว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดให้เบาบางลงเลย
เหตุกับผล ต้องตรงกัน เมื่อกิเลสมี ๓ ขั้น คือ กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กุศลที่ขัดเกลากิเลส ก็ต้องมี ๓ ขั้นด้วย กุศลขั้นศีล ขจัดกิเลสอย่างหยาบกุศลขั้นอบรมเจริญสมถภาวนา ระงับกิเลสอย่างกลาง กุศลขั้นอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ละกิเลสอย่างละเอียด การเจริญกุศลขั้น ศีล และสมาธิ ต้องประกอบด้วยปัญญาแต่เป็นปัญญาคนละขั้น ไม่ใช่ปัญญาขั้นอบรมเจริญวิปัสสนา เช่น คนที่เห็นโทษของกายทุจริต วจีทุจริต แล้วละเว้นด้วยปัญญาขั้นวิรัติทุจริต
สำหรับคนที่เห็นโทษของกาม คือ ความติดข้องความพอใจยึดมั่นใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สงบก็เพียรระงับกิเลสเหล่านั้น ด้วยการระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งต้องเป็นปัญญาขั้นที่เห็นโทษของกามและรู้ว่าจิตจะสงบระงับจากกามได้นั้น ต้องอบรมเจริญอย่างไร แต่การเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนา เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏเพื่อละความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความเห็นผิดและกิเลสต่างๆ ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา เมื่อคมกล้าขึ้น ก็สามารถดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทตามขั้นของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
กิเลสที่เกิดปรากฏให้รู้ได้ ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ และกิเลสอย่างกลางที่รู้ว่ายังมีกิเลสอย่างละเอียดอยู่ก็เพราะกิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างหยาบ เกิดขึ้นนั่นเองเพราะกิเลสอย่างละเอียด เป็นเหตุให้เกิดกิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างหยาบ และกิเลสอย่างละเอียดนั้น จะดับหมดไปได้ ก็เมื่ออบรมเจริญปัญญา จนรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ และเมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ กิเลสอย่างละเอียดจึงจะดับหมดสิ้นไป เป็นประเภทๆ ก่อนถึงชาติที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลก็ต้องอบรมเจริญปัญญามาแล้วในอดีตชาติ เป็นหมื่นเป็นแสนกัปป์เพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ได้นั้นจะต้องสะสมอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ชัด และประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริง.
ถ้าใครมุ่งปฏิบัติ โดยไม่เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อนก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญวิปัสสนาได้เลย.
ถ้าไม่พูดถึงกันเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้ ให้เข้าใจก่อนก็ไม่มีปัญญาขั้นต้นที่เกิดจากการฟัง หรือการศึกษาเมื่อไม่มีปัญญาขั้นต้นก็เจริญปัญญาขั้นต่อไปไม่ได้เลย.