อากิญจัญญายตนฌาน
อกิญฺจน (น้อยหนึ่งก็ไม่มี) +อายตน (ที่เกิด) +ฌาน (สภาพที่เพ่งอารมณ์ เผาปฏิปักษ์ธรรม)
ที่เกิดของฌานจิต และสัมปยุตตธรรม คือ ความไม่มีอรูปฌานจิตที่ ๑ หมายถึง อรูปาวจรจิตดวงที่ ๓ หรืออรูปฌานที่ ๓ ซึ่งมี ๓ ดวง ๓ ชาติ คือ
๑. อากิญจัญญายตนกุศลจิต เป็นอรูปฌานกุศลดวงที่ ๓
๒. อากิญจัญญายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากดวงที่ ๓
๓. อากิญจัญญายตนกิริยาจิต เป็นอรูปฌานกิริยาดวงที่ ๓
ผู้ที่จะอบรมเจริญอรูปฌานกุศลจิตดวงที่ ๓ ต้องอบรมอรูปฌานกุศลจิตดวงที่ ๒ จนกระทั่งมีความชำนาญเป็นวสีแล้ว จึงเลิกใส่ใจอากาสานัญจายตนจิต แต่เปลี่ยนมาใส่ใจที่ความว่างเปล่า ซึ่งเพิกจากการมีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ เพราะมีสติสัมปชัญญะพิจารณารู้ว่า แม้อรูปฌานที่ ๒ จะเป็นสภาพที่ละเอียดเพราะมีอรูปฌานที่ ๑ เป็นอารมณ์ แต่การไม่มีอรูปฌานที่ ๑ เป็นอารมณ์ โดยการเพิกและพิจารณาที่ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่๓ นั้นละเอียดกว่า ฉะนั้น จึงเรียกอรูปฌานที่ ๓ นี้ว่า อากิญจัญญายตนฌาน เพราะมีความไม่มีอะไรแม้น้อยหนึ่งเป็นอารมณ์
(ดูอรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต อรูปาวจรกิริยาจิต)