การแสดงความเคารพ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๒๖
บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
การแสดงความเคารพ
ผู้ฟัง การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพนี้ เป็นกุศลใช่ไหมคะ
สุ เป็นค่ะ
ผู้ฟัง ทีนี้ก่อนที่จะเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพนั้น ก็มีการพิจารณาว่าท่านผู้นั้นน่ะเป็นผู้ที่ควรเคารพจริง โดยความเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูง และต้องเป็นผู้ที่มีอุปการะมาก มีความรู้มาก อะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ การที่คิดอย่างนี้ จะเป็นลักษณะของมานะที่เห็นว่า ตัวเองด้อยกว่าเขาไหมคะ คือ ถ้าเป็นมานะแล้ว จะเป็นการแสดงความเคารพที่เป็นไปด้วยอกุศลไหม? อยากให้อาจารย์กรุณาอธิบายว่า การแสดงความเคารพที่เป็นไปด้วยกุศลและอกุศลนั้นต่างกันอย่างไร?
สุ จิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก แล้วถ้าสติไม่เกิด ยากที่จะรู้การเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วของกุศลและอกุศลได้ แต่ผู้ที่สังเกตจิตของตัวเองบ่อยๆ ก็พอจะทราบได้มากกว่าคนอื่นแน่นอนว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล
การแสดงความเคารพบางครั้ง บางท่านอาจพิจารณาก่อนเสียนานว่า จะเคารพดีหรือไม่เคารพดี หรือว่าอาจจะช้าเกินไป ถ้าเป็นผู้คิดถึงว่า การเคารพสามารถที่จะเคารพในชาติ คือ ในกำเนิดที่สูง หรือว่าในวัย ในอายุที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่สูงด้วยอายุ หรือว่าในคุณธรรม ในความรู้ ในความสามารถก็ได้ หรือแม้จะเป็นการแสดงความเคารพตามมารยาท แต่กระทำด้วยจิตอ่อนโยน อ่อนน้อมซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของมานะ ความหยาบกระด้าง หรือว่าสภาพที่สำคัญตน ถือตน คิดถึงตัวเองในขณะนั้น ขณะนั้นที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็เป็นกุศลได้ คือ ลักษณะของจิตที่อ่อนโยน ที่นอบน้อมเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในการเคารพผู้ที่สูงกว่าด้วยวัยหรือเสมอกันก็ได้ แต่กระทำไปด้วยจิตที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นสภาพที่มีจริงเกิดขึ้น และสามารถที่จะระลึกได้ ตามความเป็นจริงในลักษณะที่เป็นกุศล หรือว่าในลักษณะที่เป็นอกุศล
แม้แต่ "การแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย" ถ้ายังไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณา ก็ควรที่จะเริ่มพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นกระทำด้วยความสงบ ด้วยความนอบน้อมที่เป็นกุศลจริงๆ หรือว่าเพียงแต่จะกระทำให้เสร็จตามภาระ หรือว่า ตามกิจวัตรเท่านั้นเอง หรือว่า บางท่านอาจจะรีบเร่ง มีธุระ ทำไปแล้วก็คิดถึงเรื่องอื่นไป แทนที่จะนึกนอบน้อมแล้วเป็นความสงบ แล้วก็เป็นกุศลที่อ่อนน้อมจริงๆ
ถ้าท่านผู้ใดสังเกตเห็นความนอบน้อมของจิตของท่าน ในขณะที่แสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ต่อๆ ไปจะระลึกได้จริงๆ ว่า ความนอบน้อมนั้น ยิ่งนอบน้อม ยิ่งเป็นกุศล และยิ่งสงบขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มสังเกต พิจารณาจิตในขณะนั้นด้วย
[๖๙๘] ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์นั่งบนอาสนะของตนแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า ไม่ควรทำมานะในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงใคร บูชาใครด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี.
[๖๙๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชายและในอาจารย์เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี
บุคคลพึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความกระด้างในพระอรหันต์ผู้เย็นสนิทผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น.
ข้อความบางตอนจาก
[เล่มที่ 25] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๔
๕. มานัตถัทธสูตร
ว่าด้วยการทำความเคารพในบุคคล ๔ พวก
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเคารพ ในบุคคลที่ควรเคารพ เป็นมงคลประการหนึ่ง เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะขณะนั้นเป็นกุศลจิต ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ขจัดซึ่งความหยาบกระด้างแห่งจิต ขัดเกลาความสำคัญตน สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศล ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ความเคารพ ไม่ใช่ดูที่กิริยาอาการภายนอกเท่านั้น แต่ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิต ซึ่งไม่มีใครสามารถทราบได้นอกจากตนเองเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ บุคคลผู้ควรแก่การบูชาอย่างสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดในโลก พระมหากรุณาคุณที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวงนั้น มีมากเป็นอย่างยิ่ง การเคารพบูชาพระองค์อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่มีทางอื่น นอกจากศึกษาพระธรรมฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน สมจริงดังพระดำรัสที่พระองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์เถระ ว่า
"ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า สักการะเคารพนับถือ บูชา ยำเกรง นอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม"
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ