กัมมัสสกตาปัญญา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านผู้ฟัง สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายนี้ เป็นพื้นฐานที่จะให้บรรลุธรรมต้องมีกัมมัสสกตาปัญญาพร้อมอยู่ในตัว
ท่านอาจารย์ เมื่อใช้คำว่า ปัญญา อย่าลืมนะคะ ความรู้ระดับไหน รู้อะไร ถ้าไปเรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัยปริญญาเอก เป็นปัญญาเจตสิกหรือเปล่า ในเมื่อไม่รู้จัก สภาพลักษณะของธรรมะ ที่มีจริงๆ ฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า "กัมมัสสกตาปัญญา" นี้ คนที่เชื่อกรรม และผลของกรรม เชื่อเบื้องต้นคือ เชื่อในเหตุและผล แต่ยังไม่รู้ว่า "กรรม" คืออะไร และไม่รู้ว่า "ผลของกรรม" คืออะไร เพียงกล่าวว่า กรรมมี ผลของกรรมมี คือ เชื่อตามเหตุตามผล
แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ละเอียดมากเจ้าค่ะรู้จนกระทั่งว่า กรรม คือ เจตนาเจตสิก ได้แก่ความจงใจ ตั้งใจ เช่น ความจงใจที่ประทุษร้าย เบียดเบียนบุคคลอื่นและการกระทำนั้นได้สำเร็จไปแล้วแม้ว่าจะผ่านพ้นไปนานแสนนาน ก็ให้ผลได้เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมแม้แต่พระพุทธองค์เอง ในชาติสุดท้าย ก็ยังทรงได้รับผลของกรรม
ฉะนั้น กรรมเป็นเจตนา กรรมปัจจัยสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะและพร้อมที่จะให้ผลเป็นจิต คือเป็นวิบากจิต เมื่อถึงกาละที่จะให้ผล เจตนาที่เกิดกับจิต (ที่เป็นกุศล หรือ อกุศล) เป็นเหตุปัจจัยให้เจตนาเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ เกิด เช่น ขณะแรกที่เกิดมาในโลกนี้ ห้ามไม่ได้ จงใจไม่ได้ เลือกไม่ได้ แล้วแต่เหตุหรือ ขณะที่หลับสนิท ก็ห้ามไม่ได้ว่า ไม่ให้หลับ หรือหลับแล้ว ไม่ให้ตื่นเมื่อมีปัจจัยก็ต้องตื่น เมื่อกรรมให้ผลขณะที่ตื่น คือ ทางตาเห็นทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสนี่คือ เหตุและผล ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้.ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะเพียงเชื่อกรรมและผลของกรรมเช่น ผู้ใหญ่บอกว่าทำบาป แล้วก็จะให้ผลร้าย ทำบุญแล้วจะได้ผลดีแต่ไม่รู้ว่า ผลดี เมื่อไร ผลร้าย เมื่อไร เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมก็ไม่รู้ และคิดว่า เป็นเราเจตนา เป็น กรรม
และผลของกรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ได้แก่ วิบากจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส.ผู้ที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะเข้าใจความหมายของกรรม ว่าเป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีปัจจัยก็เกิด ทำกิจ แล้วก็ดับไป สิ่งที่ชอบ...ไม่ชอบ หลังจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกรรม.ความเข้าใจใน "กัมมัสสกตปัญญา" คือ ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรม ที่เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมและรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้แล้วแต่การสะสมของจิต.อุปนิสสยปัจจัย ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วแต่การสะสมของจิตอุปนิสสยปัจจัย ที่สะสมบ่อยๆ จนมีกำลังย่อมเป็นปัจจัยที่จะทำให้โลภะ หรือ โทสะประเภทใดประเภทหนึ่งเกิด ด้วยสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นบุคคลนั้นจะเข้าใจ "กัมมัสสกตาญาณ" ตั้งแต่ต้นจนถึงญาณขั้นสูงไม่ใช่เพียงชื่อ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว ไม่ใช่เพียงคำแต่มีสภาพธรรมะจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นปัญญา ที่รู้กรรม เพราะเป็นตัวธรรมะจริงๆ ที่เป็นผลของกรรม
สนทนาธรรมที่วัดบ้านปิง อ.เมือง จ. เชียงใหม่พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนา
กรรมใดได้กระทำแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบากแก่ผู้กระทำกรรมนั้นตามควรแก่โอกาสของกรรมนั้นๆ ผู้กระทำกรรมจึงเป็นผู้รับผลของกรรมโดยมีกรรมเป็นกำเนิด คือเป็นเหตุให้เกิดสุคติภูมิและทุคติภูมิ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อถึงโอกาสของอกุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นก็มีอกุศลกรรมเป็นพวกพ้อง มีความวิบัติต่างๆ เกิดขึ้น แม้จากญาติ มิตรสหาย บริวาร และคนอื่นๆ เมื่อถึงโอกาสของกุศลกรรมให้ผลก็ตรงข้ามกับผลของอกุศลกรรม