อยากทราบและสงสัยเกี่ยวกับการกำหนด

 
tanawat
วันที่  7 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10623
อ่าน  1,663

ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราเห็นรถกำลังวิ่ง เราได้ยินเสียงและเห็นรถกำลังวิ่งผ่านและมีแมลงมาเกาะทำให้เกิดอาการคันและมีคนเรียกและมีอากาศเย็นมากระทบและมีแดดทำให้เรารู้สึกร้อนและเราเหยียบพื้นรู้สึกแข็ง ถ้ามีอาการดังที่กล่าวมาแล้วเกิดในเวลาเดียวกัน แล้วกำหนดไม่ทันในอาการที่ปรากฏจะมีวิธีแก้อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

ควรทราบว่าการศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าหากเข้าใจแล้วจะไม่มีคำว่าไม่ทัน เพราะสิ่งนั้นกำลังมีปรากฏอยู่ สิ่งใดปรากฏควรศึกษาสิ่งนั้น ที่สำคัญคือต้องฟังธรรมะให้เข้าใจ และไม่ใช่เราไปกำหนด เมื่อฟังเข้าใจแล้วสติและสัมปชัญญะจะทำกิจของสติสัมปชัญญะ คือระลึกรู้ตามความเป็นจริง ฉะนั้นทุกขณะมีสภาพธรรม กำลังปรากฏให้รู้ให้ศึกษา ผู้ที่มีปัญญาย่อมเข้าใจตามเป็นจริงได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
akrapat
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

ให้รู้ว่ากำลังสงสัยว่า จะกำหนดอะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sam
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

จากการศึกษาทำให้รู้ตามได้ว่า ในขณะหนึ่งนั้นจิตเกิดขึ้นทีละดวง รู้อารมณ์ทีละอย่าง ดังนั้น การรู้อารมณ์พร้อมกันหลายอย่างเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่ในชีวิตประจำวันตามปกติ เสมือนมี "เรา" ที่รู้สิ่งต่างๆ พร้อมกันหลายอย่าง ทำให้ดูเหมือนว่าการระลึกรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยกล่าวว่าระลึกรู้ไม่ทัน

การบรรเทาความสงสัยนี้ ประการแรกจะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนว่า ธรรมะไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร เพราะหากตั้งต้นด้วยความเป็นเราก็จะผิดตั้งแต่ก้าวแรก

และประการต่อไปก็คือ อย่าลืมแนะนำของท่านอาจารย์ฯ ที่ว่า "ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฎตามปกติตามความเป็นจริง" ซี่งดูเหมือนจะง่ายแต่ยากเพราะลึกซึ้งมากครับ โดยสรุปก็คือ ผู้ใดเคยดำรงชีวิตมาเป็นปกติเช่นไร ก่อนที่จะได้ศึกษาพระธรรมก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฎในปัจจุบันไปตามปกติเช่นนั้น โดยไม่มีอะไรที่ผิดปกติจากบุคคลโดยทั่วไป ทั้งนี้โดยมีความเข้าใจประการแรก (ว่าธรรมะไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร) เป็นพื้นฐาน

เมื่อสติเริ่มเกิดและค่อยๆ เจริญขึ้นจึงจะค่อยๆ บรรเทาความสงสัยไปตามลำดับของความเข้าใจ และเมื่อวิปัสนาญาณเกิดขึ้นไปตามลำดับจนถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ความสงสัยทั้งหลายก็จะดับหมดไม่มีเหลืออีกต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
majweerasak
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาและแสดงความเห็นด้วยนะครับ

เป็นเราพยายามจะรู้ก็เลย เข้าใจ (ผิด) ว่าไม่ทัน

ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องทัน หรือไม่ทัน เพราะปัญญาเกิดดับเร็วมาก เกิดและดับพร้อมจิต (ที่ประกอบด้วยปัญญา) และที่สำคัญปัญญากำลังรู้อารมณ์เดียวกับจิต เวลาหนึ่งขณะจิต มีธรรมะ (ทั้งจิต เจตสิก รูป) เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน แต่ปรากฏให้จิตรู้ได้ทีละอย่างครับ รู้ได้ที่ละอย่าง ในขณะที่ธรรมกำลังเกิดดับนับไม่ถ้วน ดังนั้นจึงไม่ต้องสนใจเรื่อง ทันหรือไม่ทัน

สรุปคือ ในหนึ่งขณะ มีธรรมะนับไม่ถ้วน แต่ปรากฏได้แค่อย่างเดียว ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงเรื่อง ทัน หรือไม่ทัน ครับ ขอให้ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วก็เข้าใจขึ้นอีก ก็น่าจะพอนะครับ

ธรรมะ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด เร็วจนเกินกว่าที่จะมีใครจะไปทำอะไรได้แต่สามารถเจริญเหตุให้ควรแก่ผล เพื่อให้เป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ โดยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม และค่อยๆ ระลึกรู้ ค่อยๆ พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏ ทีละน้อย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
choonj
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องหาวิธีแก้ ถ้าสงสัยอยู่ กำหนดทันไม่ทันอยู่ หาวิธีแก้อยู่ก็ผิดทาง ทีถูกแล้วคือเมื่อรู้ว่าจิตเกิดแต่ละขณะสามารถมีแค่อารมณ์เดียว ก็รู้อารมณ์เดียวที่รู้นั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน แมลงมาเกาะ คัน เย็น ร้อน แข็ง อารมณ์เหล่านี้จิตไม่สามารถรู้ได้ที่เดียวพร้อมกัน แต่รู้ได้ทีละอารม์เมื่อปรากฎ เมื่อปรากฎเป็นอารมณ์ก็ต้องรู้ เป็นการหายสงสัย เป็นการกำหนด เป็นวิธีไปในตัว โดยไม่มีตัวตนไปสงสัย ไปกำหนดไปหาวิธี ครับ

อ้อ แล้วอีกอย่าง เมื่อไม่มีตัวตนไปกำหนด ก็ไม่มีไครทันหรื่อไม่ทัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ถ้ารู้สึกว่าระลึกไม่ทัน นั่นไม่ใช่สติ เป็นคิด

เมื่อสติจะเกิด กำหนดไม่ได้ กะเกณฑ์ไม่ได้ เพียงแต่ระลึกไปเรื่อยๆ ตามสภาพธรรมที่ปรากฏจริง แต่เวลาที่สติเกิด จะรู้นาม รูป ที่อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วดับไป

ดังนั้นสำหรับผู้เริ่ม วันทั้งวันอาจมีการระลึกรู้ได้คือ มีสติ และเมื่อไม่มีการระลึกรู้ คือไม่เกิดสติ หลงลืม ได้ และก็เจริญสติขึ้นใหม่ได้ ไม่เป็นตัวตนที่จ้องจะกำหนดให้ทันหรือกำหนดให้สติเกิดขึ้น

จากตัวอย่าง

เห็น (เห็นรถ) เห็นมีจริงๆ นามรู้รูปทางตา เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

ได้ยิน (ได้ยินเสียง) ได้ยินมีจริงๆ นามรู้รูป ทางหู เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

คัน (อาการคัน) คันมีจริงๆ นามรู้รูป ทางกาย เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

เย็น (มีอากาศเย็นมากระทบ) เย็นมีจริงๆ นามรู้รูป ทางกาย เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

ร้อน (มีแดดทำให้เรารู้สึกร้อน) ร้อนมีจริงๆ นามรู้รูป ทางกาย เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

แข็ง (เหยียบพื้นรู้สึกแข็ง) แข็งมีจริงๆ นามรู้รูป ทางกาย เกิดแล้ว ดับแล้ว สติตามระลึกรู้ เกิดแล้วดับแล้ว

จึงควรระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ไปทีละอย่างๆ ทีละขณะๆ ตามสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เท่าที่จะระลึกได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะระลึกอะไรก่อนหลัง ทันหรือไม่ทัน เพราะเลือกไม่ได้ จึงควรมีเพียรและความอดทนต่อการระลึกรู้หรือการเจริญสติ ไม่ต้องการผลที่รวดเร็ว เพราะทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏและทำหน้าที่ของตนๆ ไม่ใช่เราเลยที่จะไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

กราบอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ทุกอย่างที่เล่ามานั้น เป็นโลกของความคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตปกติประจำวันแต่ก่อนที่จะเป็นโลกของความคิดนั้น บางขณะมีโลกของความจริงบางอย่าง ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ให้สัมผัส ฯลฯ ก่อน แต่โลกของความคิดก็ราวกับว่า ถูกโลกอื่นปิดบังไว้สนิท ขณะนี้เหมือนกับว่าเห็นตลอด เห็นเมื่อไร ก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ยินทีไร ก็ได้ยินเป็นคำ เป็นความหมายให้รู้ได้ เข้าใจทันทีอย่างรวดเร็ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดไม่พร้อมกันกับโลกทางใจเป็นคนละขณะ เพราะทรงตรัสรู้และทรงประจักษ์แจ้งการเกิดดับของจิตโดยละเอียด แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ อวิชชาไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นั้นรู้ความจริงได้ ความจงใจด้วยตัวตนที่อยากจะรู้สภาพธรรม ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริงได้เช่นกันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วมาก จิตเห็นจะเกิดพร้อมกับจิตคิดนึกไม่ได้ จิตได้ยินจะเกิดพร้อมกับจิตที่รู้เย็นไม่ได้ ดังนั้น การที่จะรู้ได้ว่าไม่พร้อมกัน ก็ด้วยสติที่เกิดแล้วระลึกเป็นไปในสภาพธรรมนั้นแต่ละอย่าง ทีละทาง แล้วปัญญาก็จะรู้ชัดยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับขั้นของการศึกษาสภาพธรรม แต่ถ้ายังระลึกไม่ได้ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เข้าใจต่อๆ ไปโดยไม่ลืมว่าสาวกคือผู้ฟัง ไม่ควรเพียรหาหนทางปฏิบัติอื่นที่ผิดไปจากความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ควรมั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งปวงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2551
ความเห็นที่ 8 โปรดอธิบาย "นามรู้รูป" เป็นอย่างไร เพราะผมเข้าใจว่าสติระลึกสภาพของรูป สภาพของนามครับ ไม่ใช่ว่านามรู้รูปครับ โปรดอธิบายด้วยครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

เห็นด้วยกับคุณไตรสรณคมน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

นามคือ จิต มีหน้าที่รู้

รูปคือ สีสันที่เห็นว่าเป็นรถ เสียง คัน เย็น ร้อน ไม่อาจรู้สิ่งใดได้ จึงถูกรู้

เมื่อมีรูปกระทบปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเกิด ขณะนั้นจิตทำหน้าที่รู้รูปที่ปรากฏ สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็น เห็นรถ ฉะนั้น นามรู้รูปจึงเกิดขึ้นก่อน

แล้วสติเกิดต่อ ทำหน้าที่ตามระลึกรู้ สภาพธรรมที่นามรู้รูป

จึงรู้ชัดว่า เป็นนาม เป็นรูป ตอนนี้เองจึงเรียกว่า สติระลึกสภาพของนาม สติระลึกสภาพของรูป ซึ่งต้องเกิดหลังจากนามรู้รูปแล้ว

สติจะระลึกรู้ได้เมื่อเกิดสภาพธรรมจริงแล้วเท่านั้น ไม่ใช่สติจะไประลึกสภาพธรรมที่ยังไม่ได้เกิด ไม่ได้

หากสติไม่เกิด ก็ไม่เกิดการระลึกรู้ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งของ เสียงคน แมลง อากาศเย็น อากาศร้อน ไม่อาจรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

สติคือ ความตามระลึก คือตามระลึกสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ สิ่งที่ยังไม่เกิดจะเรียกว่าตามระลึกไม่ได้ สิ่งนั้นเกิดแล้วจึงตามระลึกได้

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
choonj
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

เรียน อาจารย์ครู

หมายความว่าฟังธรรมไปเรีอยๆ จนกว่าสติจะเกิดเองเมื่อเกิดก็มีการระลึกเอง เมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่ควรหาหนทางไปปฎิบัติ ผมขออนุโมทนาครับ แต่เมื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของการฟังธรรม มันยากอยู่นะครับ เพราะการฟังธรรมอาจล้มเหลวคือ ฟังไม่ดีแล้วไม่ยังผล กระทู้นี้ถามบนพื้นฐานของการเป็นตัวตน จึงต้องตอบในลักษณะของการคิดนึกเพื่อให้เข้าใจ ถ้าคิดนึกถูก การเข้าใจก็จะดีขึ้นการฟังธรรมก็จะได้ผลดีขึ้น ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ถูกต้องไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ajarnkruo
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

เรียนคุณ choonj ที่เคารพ

ข้อความที่กล่าวข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าให้ฟังไปเรื่อยๆ แล้วมีตัวตนที่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสติ หรือให้แอบไปหวังรอสตินะครับ แต่ก็เห็นด้วยที่ว่าการฟังไปเรื่อยๆ นี่ถ้าไม่เข้าใจ ก็คงแทบจะไร้ผล และเป็นประโยชน์น้อยอย่างที่คุณ choonj กล่าวครับ ข้อความที่กล่าวข้างต้น มุ่งย้ำให้ไม่ลืมจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมครับ คือ ฟังเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ และเพื่อให้เข้าใจ ในสิ่งที่เข้าใจแล้ว เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ถ้าฟังไม่เข้าใจ ก็อดทน เพียรฟังให้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยต่อไป ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็ไม่มีใครปล่อยอะไรทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เลย ที่เข้าใจขึ้น ก็เพราะว่ามีการคิดพิจารณาตาม โดยที่ไม่ได้กำหนด หรือบังคับไว้มาก่อนว่า จะคิดถูกต้องอย่างนี้ เพราะอาศัยการฟังพระธรรม จึงมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดการไตร่ตรอง ด้วยความแยบคายในเหตุผลอันสมควรของธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นปัญญาของผู้นั้นในที่สุดครับ ส่วนการคิดถูกนั้นเป็นประโยชน์ เอื้อต่อการฟังพระธรรมต่อไปแน่นอน แต่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสติที่ระลึกในสภาพธรรมเมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสติเมื่อนั้นเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่กังวล ไม่หวังรอ รวมทั้งไม่ละเลยสิ่งที่มีในขณะนี้ด้วยความประมาทครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

ถ้าสติไม่เกิดก็อยู่ในโลกของสมมติบัญญํติ โลกที่คิดว่าธรรมะเกิดพร้อมกัน เช่น เห็น ได้ยิน กระทบสัมผัส แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะของธรรมะ เช่น แข็งเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ขณะนั้นจะไม่ปนกับทวารอื่น จะไม่มีตัวเราไปกำหนดหรือระลึก ต้องอาศํยการฟังธรรมบ่อยๆ แล้ววันหนึ่งปัญญาก็จะรู้ความต่างกันของธรรมะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
choonj
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

ขอขอบคุณอาจารย์ครู ด้วยความเคารพที่ให้ความรู้ ผมได้ความรู้จากอาจารย์ครูเสมอมา

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

ความคิดเห็นที่ ๑๑ ก็อยากขอให้สนทนาธรรมครับ ความคิดเห็นที่ ๑๓ ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
tanawat
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

อยากทราบว่าพระอรหันต์จะกำหนดทันไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
suwit02
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 20 โดย tanawat

อยากทราบว่าพระอรหันต์จะกำหนดทันไหมครับ

ไม่นานมานี้เองผมก็ได้แต่คิดว่า ตัวเอง ไม่ทัน ไม่เคยทันสักที บ่อยๆ ต่อมาอาศัยการฟังจากกัลยาณมิตร ในเวบนี้ จึงรู้ว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็จะรู้เองว่า นี่แหละสติปัฏฐาน และถ้าสติปัฏฐานจะเกิด ก็ไม่มีคำว่า ไม่ทัน เกือบจะทัน หรือทันแบบฉิวเฉียด และเมื่อไหร่ที่คิดว่าตัวเองไม่ทันนั้น ก็คือ อารมณ์ (ที่สติปัฏฐานจะพึงระลึกได้) นั้นได้ผ่านไป เป็นอดีตไปแล้ว และความคิดที่ว่า เราไม่ทัน นั้นเอง ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน (ครั้งนี้ ทัน ป่าวครับ)

ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนเราน่าจะบอก หรือถามว่า ในขณะนั้นระลึกได้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด มากกว่า ที่จะบอกว่า สติปัฏฐานเกิดไม่ทัน ส่วนการระลึกได้ดังกล่าว จะเป็นสติในขั้นนึกคิดเรื่องราวของธรรมะ หรือ เป็นสติปัฏฐาน นั้นขึ้นกับว่า ทันหรือไม่ทัน 55555 เอ้อไม่ใช่ ครับ ขึ้นกับว่าการขณะที่ระลึกรู้นั้น ระลึกรู้ ในสภาพธรรมที่เกิดในปัจจุบันเฉพาะหน้านั้น หรือเพียงระลึกถึงสภาพธรรมที่ผ่านพ้นไปแล้ว (ไม่เป็นปัจจุบัน/ปัจจุบันสันตติ)

ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้จดจ้อง ปักใจ เคร่ง (เครียด?) จะกำหนดรู้สภาพธรรม แต่สติปัฏฐาน จะเกิดเมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม

โปรดอ่านกระทู้

อาหารของสติปัฏฐาน

ดังนั้น น่าจะใช้คำว่า ระลึกรู้ (ในสภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน) มากกว่า ที่จะใช้คำว่ากำหนด ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปว่า มีการ จดจ้อง ปักใจ บังคับ ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น (โดยไม่มีเหตุปัจจัย ที่สมควรรองรับ) ได้

ส่วนคำถามที่ว่า พระอรหันต์ท่าน กำหนด ทัน ไหมนั้น

ตอบว่า พระอรหันต์เป็นผู้ มีเหตุ มีปัจจัย มีอาหาร ของสติปัฏฐานบริบูรณ์ดีแล้ว แต่กระนั้น ท่านก็มิได้เกิดสติปัฏฐานตลอดเวลา โปรดอ่านกระทู้ (ที่คุณตั้งเอง)

การกำหนดของพระอรหันต์

ขออนุโมทนาครับ

ปล.อันนี้เป็นความเห็นของผู้ที่รู้ตัวว่า ไม่ทัน นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 20 โดย tanawat

อยากทราบว่าพระอรหันต์จะกำหนดทันไหมครับ

พระอรหันต์มีจิต 2 ชาติคือ วิบากและกิริยา ไม่เป็นกุศลหรืออกุศลเลย พระอรหันต์ทำกิจเสร็จแล้วคือ กิจคือการดับกิเลสหมด ดังนั้นจึงไม่มีกิจที่ต้องกำหนดรู้ ต้องละกิเลสอีก แต่เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จิตของท่านเองก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้เพราะเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเกิดได้ แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่เป็นกุศล เป็นกิริยาจิตครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความเมื่อสภาพธรรมใดเกิดแล้ว สติปัฏฐานจะต้องเกิดระลึกรู้ลักาณะของสภาพธรรมตลอดครับ และแม้ว่าสติปัฏฐานของท่านจะไม่เกิด ก็ไมได้หมายความว่าจะเป็นอกุศลเลยครับ ที่สำคัญควรอบรมเหตุที่ถูกต้องที่ตนเองเป็นสำคัญนะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
tanawat
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องกำหนดตอนปฏิบัตินั่งสมาธิหรือตอนเดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอใช่ใหมครับช่วยอธิบายหน่อยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
suwit02
วันที่ 31 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 23 โดย tanawat

เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องกำหนดตอนปฏิบัตินั่งสมาธิหรือตอนเดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอใช่ใหมครับช่วยอธิบายหน่อยครับ

พระอรหันต์ ท่านทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ครับ

คุณธนวัฒน์ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า กำหนดตอนปฏิบัตินั่งสมาธิ คืออะไร

กำหนดตอนเดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ คืออะไร

การ กำหนด ตอนปฏิบัตินั่งสมาธิหรือตอนเดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เป็นตัวสติปัฏฐานเอง หรือว่าเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐาน อย่างไร

ถ้าเราไม่ได้ ปฏิบัตินั่งสมาธิและไม่ได้เดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เราจะกำหนดได้หรือไม่ เจริญสติปัฏฐานได้หรือไม่

ถ้าเราไม่ได้ ปฏิบัตินั่งสมาธิและไม่ได้ เดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ ก็มีสภาพธรรมต่างๆ เช่น เห็นรถกำลังวิ่ง ฯลฯ ตามที่คุณบรรยายมาในตัวกระทู้ ปรากฏให้สติระลึกรู้ (กำหนด?) ได้อยู่แล้ว ใช่หรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 1 ม.ค. 2552
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 23 โดย tanawat   เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องกำหนดตอนปฏิบัตินั่งสมาธิหรือตอนเดินจงกรมว่าย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอใช่ใหมครับช่วยอธิบายหน่อยครับ   ไม่ว่าใครก็กำหนดไม่ได้ค่ะ เพราะสติเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นตามใจนะคะ การปฏิบัติธรรม คือ การถึงเฉพาะลักษณะของธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่กำลังปรากฎ โดยไม่ต้องไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้ผิดจากปกติ แม้ขณะที่กำลังอ่านอยู่นี่ ก็มีสภาพธรรมค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
เมตตา
วันที่ 1 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะและขออนุโมทนาคุณไตรสรณคมน์ที่กล่าวว่า

การปฏิบัติธรรม คือ การถึงเฉพาะลักษณะของธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่กำลังปรากฎโดยไม่ต้องไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้ผิดจากปกติ

แม้ขณะที่กำลังอ่านอยู่นี่ ก็มีสภาพธรรมค่ะ

คำว่าปฎิบัติธรรม มาจากภาษาบาลีว่า ปฎิปัตติ

ปฎิ หมายความว่า เฉพาะ

ปัตติ หมายความว่า ถึง ..

ฉะนั้น การปฏิบัติธรรม หมายถึงการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่กำลังปรากฎในขณะนี้ แต่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วคนก็จะเข้าใจผิดว่าต้องไปปฎิบัติธรรม ต้องไปกำหนดยุบหนอ ฟองหนอ หรือเดินจงกรม เป็นต้น ซึ่งความหมายจะไม่ถูกต้องตามคำบาลีค่ะ

ขออนุโมทนาคุณไตรสรณคมน์ค่ะ และขออนุโมทนาคุณkhampan.a ที่กรุณาให้ความหมายของปฎิปัตติ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
suwit02
วันที่ 1 ม.ค. 2552

ที่นี่น่ารื่นรมย์

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
pornpaon
วันที่ 4 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะทุกท่านค่ะ

ป.ล. ที่นี่น่ารื่นรมย์ เพราะสนทนาซักถามธรรมะแล้วเบิกบาน ท่านสุวิทย์ใยจะมานอนเสียล่ะท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
suwit02
วันที่ 4 ม.ค. 2552

ก็เพราะว่าที่นี่น่ารื่นรมย์ ไปเที่ยวปีใหม่มาแล้ว ถึงคราวอ่อนเพลีย ก็หลับตาได้สนิท ด้วยวางใจว่า นอนหลับในท่ามกลางกัลยาณมิตรย่อมปลอดภัย

ขอเชิญอ่านกระทู้

หลับหรือตื่นขณะฟังพระธรรม 

ในกระทู้นั้น ผมทั้งหลับทั้งละเมอ

 

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
peem
วันที่ 17 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ