มิจฉาสมาธิ...สัมมาสมาธิ

 
พุทธรักษา
วันที่  8 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10624
อ่าน  2,160

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ก็มีโลภะกันมากๆ

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลบางรูป ได้ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยวทีเดียวก็แสดงว่าท่านอยากพ้นทุกข์อันนี้ตรงกับที่อาตมากำลังกล่าวอยู่หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ โลภะ เป็นสภาพที่ ติดข้องฉันทะ เป็นสภาพที่ พอใจจะกระทำโลภะ เกิดกับกุศลจิตไม่ได้เลย ฉันทะ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลทำความเพียรนั้น เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ เป็นกุศลเจ้าค่ะ ท่านไม่ได้เพียรอกุศล

ท่านผู้ฟัง การที่โยมผู้หญิงท่านนั้นกล่าวว่า การนั่งสมาธินั้นจิตใจเพลิดเพลินยินดี รู้สึกติดข้องการกระทำอย่างนั้น เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น มีปัญญาหรือเปล่า เจ้าคะ

ท่านผู้ฟัง ก็การกระทำนั้น เป็นไปเพื่ออริยมรรค

ท่านอาจารย์ การกระทำอย่างนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่ออริยมรรคแต่เป็นความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น คนที่ทำสมาธิตั้งหลายคน เขาบอกว่า เขาต้องการทำสมาธิ เพราะไม่อยากให้จิตใจฟุ้งซ่านอยากให้จิตใจ จดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ ขณะใดที่เป็นโลภะ คือความติดข้อง แม้ต้องการจะจดจ้องขณะนั้น เป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ เพราะว่า ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

ท่านผู้ฟัง สมาธินั้น แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิ ก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ปรากฏเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจติก เป็น "สัพพจิตตสาธารณะเจตสิก"

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ เพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวงเพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิก ไม่ปรากฏเพราะจิตที่เกิดก็สั้นมาก และสิ่งที่ปรากฏ วาระหนึ่งๆ ก็สั้นมากฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่นถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ".แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน...ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏเช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้นเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้น ไม่ใช่กุศลจิต

ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต

ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ"

ขณะที่เอกกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ"

ต่อเมื่อใด ที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริต ก็เกิดน้อย และจิตส่วนใหญ่ จะตกไปเป็นอกุศลเมื่ออารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตจะคล้อยไปเป็นอกุศล เป็นส่วนใหญ่ ยากนักหนาที่เมื่อเห็นแล้ว...เป็นกุศล แล้วแต่ว่า สะสมกุศลจิตระดับใดมามาก ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีจิตที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอุปนิสัย แต่ขณะนั้น ก็สั้นนิดเดียว เดี๋ยวเสียงก็ปรากฏเดี๋ยวสีก็ปรากฏ ฉะนั้น ลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง ถึงแม้จะเป็นกุศลก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาในครั้งโน้นคือผู้ที่เห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะ โลภะรู้ว่าจิตจะคล้อยตามสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยความติดข้อง อย่างไม่รู้สึกตัวเลยรู้ว่าติดข้องในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และ การกระทบสัมผัสท่านเหล่านั้นพยายามที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัสเมื่อรู้ว่าทั้งหมดนี้ เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลจิต.ที่สำคัญ ท่านเหล่านี้ รู้ว่าสำคัญที่ "วิตกเจตสิก" หมายความว่า เมื่อนึกถึงอะไร แล้วเป็นเหตุให้จิตเป็นกุศล เช่น นึกถึงศีล นึกถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้จิตสงบจากอกุศลเป็นเหตุให้ลักษณะของกุศลจิตเกิดบ่อย และความสงบก็จะปรากฏลักษณะของสมาธิ ก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ"

สัมมาสมาธิ ระดับที่เป็นอุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิจึงเป็นฌานจิต เป็นปฐมฌานและรู้ต่อไปอีกว่า ขณะนั้นถ้ายังมีวิตก คือ มีการตรึกอยู่ก็ใกล้ต่อการตรึกถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงละสภาพธรรมที่เป็นวิตก หรือการตรึกและประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น โดย ไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก.เป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ละเอียดมากฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าอย่าไปพอใจกับคำว่า "สมาธิ" โดยไม่มีการศึกษา ให้เกิดเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน ว่า มิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ต่างกันอย่างไร

ท่านผู้ฟัง อย่างสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เป็น "สัมมาสมาธิ" ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าคะ เพราะว่า เป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับ "สัมมาทิฏฐิ"

สนทนาธรรมที่วัดบ้านปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 8 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

โลภะไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดปัญญาไม่ใช่ให้ไปเจริญโลภะมากๆ แล้วจึงจะมีปัญญายิ่งโลภะเกิดมาก การเจริญของปัญญาก็ยิ่งเนิ่นช้าโลภะที่เกิดแต่ละขณะทำให้ปัญญาตกไป คือเกิดไม่ได้ขณะที่โลภมูลจิตเกิด สมาธิที่เกิดร่วมด้วยนั้นเป็นมิจฉาสมาธิแต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด สมาธิที่เกิดร่วมด้วยนั้นเป็นสัมมาสมาธิ

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Komsan
วันที่ 10 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
fam
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

ขอกราบอนุโมทนาบุญด้วยค่ะท่านอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

สมาธิที่เป็นไปกับอกุศลทั้งปวงเป็นมิจฉาสมาธิ

สมาธิที่เป็นไปกับกุศลขั้นทาน ศีล และสมถภาวนาเป็นสัมมาสมาธิ แต่ไม่ใช่สัมมา สมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘

สมาธิที่เป็นไปกับวิปัสนาภาวนา อันประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) เป็นสัมมา สมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 28 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ