เพราะนาย ก. ไม่รู้

 
สารธรรม
วันที่  9 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10635
อ่าน  1,621

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๘๓

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เพราะนาย ก. ไม่รู้

สุ. จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเวลาที่ท่านอยู่ในมุมมืดในห้อง ไม่มีสัตว์ บุคคล ปรากฏเลย ที่จะให้ท่านเกิดเมตตาจริงๆ แต่เวลาที่ท่านพบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรจะมีเมตตา ขณะนั้นควรเจริญเมตตา เพราะมีสัตว์บุคคล ที่กำลังเป็นวัตถุที่ควรจะเมตตาจริงๆ แล้วจะเป็นประโยชน์มากกว่ากันไหมคะ กับการที่จะไปมีเมตตาในมุมมืดในห้อง แต่พอถึงชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่สามารถที่จะเมตตาต่อกันได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ประโยชน์ที่ควรจะมี ก็คือ เวลาที่มีสัตว์บุคคลใดๆ เฉพาะหน้าขณะนั้นควรจะมีเมตตาต่อกัน

ผู้ถาม อันนั้นมันก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่ว่าขณะที่อยู่ในมุมมืด หรืออยู่ในบ้าน อยู่ในห้องนั้น ที่จะตรึกถึง คิดถึงศัตรู (ในทางที่เป็นกุศล) เพียงคิดก็ยังเกิดยาก บางครั้ง (ก็) ไม่ยอมเหมือนกัน เช่น ..นาย ก. เคยทำความเดือดร้อนให้เรา ทีนี้ถ้าเราจะอยู่ในบ้าน นึกในใจ พูดในใจ (ว่า) "ขอให้นาย ก. นี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์" บางครั้ง (ก็) ไม่ยอมเหมือนกันครับ

สุ. ความจริงไม่ต้องพูดเป็นคำอย่างนั้นค่ะ แต่ขณะที่นึกถึงนาย ก. เปลี่ยนจากความที่เคยพยาบาท หรือโกรธเคือง โดยการที่รู้ว่านาย ก. เป็นผู้ที่อาจจะยังไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติ ไม่มีหนทาง หรือไม่มีแม้ทางสงบใจ ไม่มีแม้แต่การที่จะอบรมปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ควรหรือซึ่งผู้ที่รู้จักหนทาง ที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะขัดเกลากิเลสแล้ว ไปโกรธนาย ก. ทั้งๆ ที่นาย ก.ไม่รู้อะไรเลยนาย ก. มีโมหะมาก มีโลภะมาก มีโทสะมาก นาย ก. ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน นาย ก. ไม่สนใจ นาย ก. ยังไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่จะอบรมเจริญ แม้ความสงบและปัญญา เพราะฉะนั้น ควรหรือผู้ที่รู้หนทางบ้างแล้ว จะไปโกรธผู้ที่ยังมืด หรือเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เท่ากับไปส่งเสริมให้นาย ก. เป็นอกุศลยิ่งขึ้น เพราะอกุศลของตนเอง แทนที่จะช่วยกันขัดเกลา แต่ผู้ที่รู้ ควรจะขัดเกลา เพราะนาย ก. ก็ไม่สามารถจะขัดเกลาได้ เพราะนาย ก. ไม่รู้

นี่ก็เป็น "การคิดถึงนาย ก. ด้วยความเมตตา" แทนที่จะท่องว่า "ขอให้นาย ก. มีความสุข" ยังไม่ต้องนาย ก. มีความสุขล่ะค่ะ ตัวคนที่คิดถึงนาย ก. นี้มีความสุขเสียก่อนเถิด โดยการที่มีเมตตาต่อนาย ก. ในขณะนั้นเพราะถ้ามีปฏิฆะหรือพยาบาทในขณะนั้น นาย ก. ก็ไม่มีความสุขจากการที่ผู้นั้นคิด และใจของผู้นั้นเอง แทนที่จะเกิดเมตตา ก็เป็นเพียงคิด ซึ่งท่านก็กล่าวว่า ยาก ใช่ไหมคะ? เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดเป็นคำอย่างนั้น แต่เริ่มมีเมตตา ขณะใดที่ระลึกถึงนาย ก. โดยการที่ตรึกในทางที่ถูก ในทางที่จะไม่เกิดปฏิฆะหรือพยาปาทะต่อนาย ก.

[๓๑๓] ได้ยินว่า พระวารณเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า ...

บรรดามนุษย์ในโลกนี้ นรชนใดเบียดเบียนสัตว์เหล่าอื่น นรชนนั้นจะกำจัดหิตสุขในโลกทั้ง ๒ คือ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนนรชนใด มีเมตตาจิต อนุเคราะห์สัตว์ทั้งมวล นรชนนั้นผู้เช่นนั้น จะประสบบุญตั้งมากมาย เขาควรศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ การอยู่แต่ผู้เดียวในที่ลับ * และธรรมเครื่องสงบระงับจิต

๗. วารณเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวารณเถระ

[เล่มที่ 51] ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๖๓

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์

( * เป็นปกติของท่านพระวารณเถระ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่เข้าใจหนทางการเจริญวิปัสสนา)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ถ้าพิจารณาจากชีวิตจริงเราเองก็ต่างเคยกระทำความผิดเพราะความไม่รู้กันมาไม่น้อยเราไม่ปรารถนาความพยาบาทจากผู้อื่น ฉันใดผู้อื่นก็ไม่ปรารถนาความพยาบาทจากเรา เช่นกัน แม้เขาไม่รู้ก็ตาม ความเมตตา เป็นข้าศึกต่อ ความพยาบาท แต่ความเมตตา ต้องอาศัยการอบรม จึงจะมีได้แม้รู้ว่า ความพยาบาทไม่ดีแต่ไม่อบรมเจริญเมตตา ก็แก้ปัญหาไม่ได้

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wirat.k
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

สาธุ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๓๙

๒. ทุติยอาฆาตวินยสูตร

ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

[๑๖๒] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน?

บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในบุคคล แม้เห็นปานนี้ว่า โอท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้ว อบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริตแล้ว อบรมมโนสุจริต

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ