อินทรียสังวร

 
พุทธรักษา
วันที่  9 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10638
อ่าน  2,402

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระคุณเจ้า ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญของการเข้าใจธรรมะไม่ว่าจะเป็นโอกาสใดก็ตาม ถ้าเป็นโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมะถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ อริยทรัพย์ซึ่งสามารถติดตามท่านไปได้ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไปทุกคนแต่ว่าสิ่งที่ติดตามไปได้ คือ อริยทรัพย์

ซึ่งต้องใช้ความเพียรในการแสวงหา ซึ่งทุกท่านกกำลังแสวงหาอยู่ในขณะนี้ว่า จะอบรมเจริญปัญญา ให้ประจักษ์สภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้อย่างไรก็ขอเริ่มอารัมภกถา อย่างนี้.

พระคุณเจ้า ในเมื่อเป็นอนัตตาแล้ว ทำไมจึงให้มีการสำรวมอินทรีย์ดูเหมือนจะเป็นการบังคับได้

ท่านอาจารย์ ธรรมที่ดีก็มี...ธรรมที่ไม่ดีก็มีและก็ยอมรับแล้วว่า ทั้งธรรมที่ดีและธรรมที่ไม่ดี ก็เป็นอนัตตาถ้าหากพิจารณาต่อไปอีกว่า ธรรมที่ไม่ดีนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร.?ถ้าไม่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วแต่จะเกิดเมื่อไรและวิธีที่จะไม่ให้เกิด ก็มีวิธีเดียว คือ สำรวมอินทรีย์คือ สำรวม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ขณะที่เห็น ไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต แต่หลังจากเห็นแล้ว ในฐานะปุถุชน ที่เต็มไปด้วยกิเลสหลังจากเห็นแล้ว จิตที่เกิดหลังจากเห็นส่วนใหญ่เป็นอกุศลจิต จนเกือบเป็นปกติแล้วจะทำอย่างไร เพราะสภาพที่เป็นอกุศลจิตนั้น เบาบางมากบางเสียจนไม่รู้ว่า เป็นกิเลสที่เรียกว่า "อาสวะ" เมื่อเป็นอย่างนี้ จะทำอย่างไรไม่ให้กิเลสอย่างบางนี้เกิดขึ้น

นี้เป็น "การละอนุสัยกิเลสโดยตรง" คือ สติปัฏฐานเกิด แต่ว่า ขั้นงดเว้นก็มี เช่น ไม่ดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ไม่ฟังสิ่งที่ไม่ควรฟังการสำรวมนี้ สำหรับบรรพชิต แต่ถึงแม้ว่าจะห้ามไม่ให้ดู ในสิ่งที่ไม่ควรดู ห้ามไม่ให้ฟัง ในสิ่งที่ไม่ควรฟังแต่กิเลสก็เกิด

เราห้ามไม่ให้เห็นไม่ได้เลย เมื่อมีตาห้ามไม่ให้ได้ยินได้ไหม ในเมื่อมีหูในเมื่อห้ามไม่ได้ และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้ามด้วยแต่ทรงให้สนใจศึกษาเรื่องของการเจริญอินทรีย์หรือ การเจริญสติปัฏฐาน ก็ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

พระคุณเจ้า การเจริญอินทรียสังวร และการเจริญสติปัฏฐานไม่แตกต่างกันไม่ทราบว่า มีรายละเอียดอย่างไร

ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าเป็น อินทรียสังวร ระดับไหน เจ้าค่ะ อย่างปาติโมกขสังวรศีล ก็คือ การสังวร ในปาฏิโมกขศีล ซึ่งทรงบัญญัติไว้ ว่ามีเท่าไร เป็นเรื่องของกาย วาจา แต่ถ้าเป็นเรื่องของใจแม้ว่าจะอยู่ในเพศของบรรพชิต และประพฤติตามพระวินัยบัญญัติทางใจ ก็มีอกุศลจิตเกิดได้ ฉะนั้น ต้องทราบเองเจ้าค่ะ ว่าการที่อกุศลจิต (แม้มีการรักษาพระวินัย) เกิดขึ้นได้อย่างไร

เพราะว่า ไม่มีการสังวร ด้วยความรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้น การสังวร จึงขึ้นอยู่กับระดับขั้นของความเข้าใจ เช่น ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งใดไม่ควรดู แม้ไม่มีการบัญญัติไว้แต่ท่านทราบว่า สิ่งนั้นจะนำมาซึ่งอกุศลจิต

ขณะนั้น ก็เป็นการสังวรได้ ตามระดับขั้นของปัญญา แต่ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ทุกขณะที่มีการเห็น

ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกแล้ว มักจะเกิดอกุศลจิตถ้าขณะที่สังวรนั้น ไม่มีการระลึกและรู้ประโยชน์ของ "ปัญญา" ปัญญาคือการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏฉะนั้น แม้ว่าจะมีปาติโมกขสังวรศีล ซึ่งเป็นปาริวิสุทธิศีลคือ สามารถรักษาได้ครบถ้วนตามพระวินัยบัญญัติ แต่อกุศลจิตยังเกิดต่อได้จึงต้องมีปัญญา ที่จะรู้ต่อไปว่าเท่านี้ไม่พอ ปาฏิโมกขสังวรศีล ไม่พอ

เพราะว่าทางใจก็ยังคิดเป็นอกุศลได้หรือทางตาเห็นแล้ว อกุศลจิต ก็ยังเกิดต่อได้ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือ โทสะ

ฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็ควรทราบว่า ที่สมควรยิ่งกว่าการรักษาปาฏิโมกขสังวรศีล ซึ่งรักษาได้บริสุทธิ์ก็ควรจะสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามระดับของปัญญาด้วย เจ้าค่ะ

พระคุณเจ้า ที่ว่าสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น สังวรอย่างไร

ท่านอาจารย์
ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีอะไรจะสังวรได้เลย เจ้าค่ะ

พระคุณเจ้า สติจะเกิดได้อย่างไร

ท่านอาจารย์
ถ้าไม่มีการฟัง มีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน สติก็เกิดไม่ได้ เจ้าค่ะ ทุกคนมีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต ตามระดับขั้นของปัญญาผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็มีกุศลจิต กุศลขั้นทานก็มี กุศลขั้นศีลก็มีตามระดับความเข้าใจ และตามเพศของบุคคลนั้น

ถ้ามีการฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ทราบจากความเข้าใจขั้นฟังว่า เมื่อเห็นแล้ว แม้ว่าจะไม่มีทุจริตทางกาย วาจา แต่อกุศลจิตเกิดแล้วต้องรู้จากการฟังพระธรรม หรือ การศึกษาพระธรรม ว่า เพียงปาฏิโมกขสังวรศีลไม่พอ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจจากการฟังและการศึกษาเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะเหตุนี้ พระภิกษุจึงต้องมีกิจ คือ คันถะธุระ และ วิปัสสนาธุระเพราะว่า ความละเอียดของกิเลส ซึ่งมีมากเพียงขั้นศีลไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับ "ปัญญา" ว่าขณะที่เป็นอินทรียสังวรนั้นเกิดร่วมกับ "ปัญญาระดับไหน" เจ้าค่ะ

แม้ไม่เรียกชื่อ ขณะนั้น เป็นอินทรียสังวรหรือเปล่า.?เราเพียงใช้ "ชื่อ" เรียกว่า สภาพธรรมนั้นๆ เป็นอย่างไรแต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเรียกชื่อแล้วเราก็งง ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นอินทรียสังวรตรงไหนเป็นสติปัฏฐาน ตรงไหนเป็นสมถะ

แต่ตามความจริง สภาพธรรมมีหลายระดับขณะใด สภาพธรรมเกิด และเป็นไปในทางใด ก็เป็นระดับนั้น

ถ้าสติไม่เกิด หลังจากที่เห็นแล้วโดยการศึกษาเราทราบว่า ชวนจิตจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะหรือจะเป็นกุศล ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะนั้นมีสติระดับนั้น.
แต่ถ้าเป็นระดับสติปัฏฐานก็หมายความว่า ผู้นั้นมีความเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนั้น เป็นธรรมะ เห็นก็เป็นธรรมะ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธรรมะ

ฉะนั้น "สังวรของอินทรีย์ขั้นสติปัฏฐาน" คือ ขณะนี้เอง เช่นกำลังเห็นขณะนี้อาศัย "ความเข้าใจที่ถูกต้อง" ว่าการเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม สติ จึงจะระลึกได้การระลึกได้ในขณะที่เห็น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

เมื่อระลึกได้แล้ว" ปัญญา" ก็ยังสามารถทำกิจรู้-ลักษณะความแตกต่างของการเห็น ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาความเข้าใจ จะค่อยๆ เกิดขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อยว่า ธาตุเห็น เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา (ซึงไม่ใช่ธาตุรู้) ไม่ต้องใช้คำใดๆ ในขณะนั้น แต่ค่อยๆ เข้าใจใน "ลักษณะ" ของสภาพธรรม

จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ชินขึ้นนั่นคือการสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยนัยเดียวกันนั่นก็คือ ระดับที่เป็น "สติปัฏฐาน" เจ้าค่ะ

สนทนาธรรมที่วัดพระสิงห์วรวิหาร อ.เมือง จ. เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

ความเข้าใจจะค่อยๆ เกิดขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อยว่า ธาตุเห็น เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา (ซึงไม่ใช่ธาตุรู้) ไม่ต้องใช้คำใดๆ ในขณะนั้น แต่ค่อยๆ เข้าใจใน "ลักษณะ" ของสภาพธรรมจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ชินขึ้นนั่นคือการสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยนัยเดียวกันนั่นก็คือ ระดับที่เป็นสติปัฏฐาน เจ้าค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

ก่อนเข้าใจพระธรรม: สังวร-สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยความเป็นตัวตน เมื่อเข้าใจพระธรรม: สังวร-สำรวม ด้วยปัญญาความเข้าใจ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Komsan
วันที่ 11 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 27 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 6 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 22 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ms.pimpaka
วันที่ 28 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ