อนุสัยกิเลส - ฉฬงคุเบกขา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร พ.ศ. ๒๕๔๔
อนุสัยกิเลส เป็นกิเลส ที่ละเอียดมากนะคะเพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ กิเลสหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีลแสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง
กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีล ที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริตเมื่อเกิดแล้ว แต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจมี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย วาจาหรือ โลภะ มี..แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ ว่ามีโลภะ
กิเลสที่เกิดขึ้น ทำกิจการงานร่วมกับจิตจึงปรากฏ "ลักษณะของอกุศลเจตสิก" ประเภทนั้นๆ แต่กิเลสขั้นหยาบ และขั้นกลางจะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่า มีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ ว่า การที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้นั้นต้องดับอนุสัยกิเลส...ซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสอย่างหยาบ และ กิเลสอย่างกลางเกิดขึ้นได้
ตัวอย่างของ "อนุสัยกิเลส" ก็คือ ตอนที่นอนหลับสนิท พระอรหันต์กับโจร ขณะที่นอนหลับสนิท มีใครบอกความต่างได้ไหม กาย วาจา ไม่ปรากฏ สภาพจิตก็เหมือนกัน คือ วิบากจิต ขณะที่หลับสนิท ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามี พระอรหันต์ โจร ปุถุชน หรือสัตว์ ฯลฯ
ขณะหลับไม่สามารถรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่เห็นรูป ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้การกระทบสัมผัส ไม่มีจิตคิดนึก ว่า เป็นใคร บ้านอยูไหน ชื่ออะไร ฯลฯ ขณะนั้น จิต เป็น "ภวังคจิต" เช่น ขณะที่กำลังหลับสนิท
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์อกุศลที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส และกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความต่างกัน ก็คือเวลาผู้ที่ยังมีกิเลสตื่น จิตที่เกิดต่อ จะป็นอกุศลทันทีที่ตื่น แล้วได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก แต่พระอรหันต์ตื่นแล้ว ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกถึงอะไรๆ ทั้งหมดเป็น "ฉฬงคุเบกขา" ไม่หวั่นไหว เพราะว่า ไม่มีกุศลจิต และ ไม่มีอกุศลจิตเกิดต่อ กุศลจิต และอกุศลจิต ไม่มีสำหรับพระอรหันต์เพราะเหตุว่า ถ้ายังมีกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดผล ซึ่ง เป็นวิบากจิต
ถ้าเป็น อกุศลจิต คือ อกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิด อกุศลวิบากจิต ถ้าเป็นกุศล ที่ได้กระทำสำเร็จเป็นกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิด กุศลวิบากจิต
ไม่มีใครทำให้เกิด "จิตเห็น เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครทำให้ "จิตได้ยิน" เดี๋ยวนี้แต่เป็นเหตุจาก "กรรมที่ได้กระทำแล้ว" เมื่อถึงกาลที่จะให้ผล ก็เกิดขึ้นเช่นในขณะหลับ ให้ (จิต) เห็นเกิดก็ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อตื่นขึ้นแล้ว (จิต) เห็นไม่มีใครรู้ว่า "จิตเห็น" ขณะนี้ เป็น "ผลของกรรมอะไร"จิตเห็น...เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ที่เป็นเหตุให้ต้องเห็นจักขุปสาท (รูปที่เกิดจากกรรม) มีกรรม (อกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม) เป็นปัจจัยให้เกิดเมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม คือ มีการกระทบ กับสิ่งที่ปรากฏก็เป็นเหตุให้ จิตเห็น สิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามกรรม ที่ได้กระทำแล้ว ตามกรรม คือ ถ้าเห็นสิ่งที่ดี ก็เป็น "ผลของกุศลกรรม" (กุศลวิบาก) ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็น "ผลของอกุศลกรรม" (อกุศลวิบาก)
แต่ว่า หลังจาก กุศลวิบากจิต และ อกุศลวิบากจิต เกิดแล้วดับไปแล้วจิต ก็เป็นอกุศล เช่น โลภะเกิด ติดข้อง ก็ได้ หรือ โทสะเกิด ขุ่นใจ กลัว โกรธ...ฯลฯ ก็ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท ก็ยังมี อนุสัยกิเลสซึ่งเมื่อมีปัจจัยถึงพร้อม ที่กุศลจิต หรือ อกุศลจิต จะเกิด ก็ต้องเกิดกุศลจิต และอกุศลจิต เกิดเมื่อถึงขณะ หรือกาล ที่เป็น ชวนจิต
การอบรมเจริญปัญญาคือการรู้ความจริง ว่า "เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ใช่เรา" จนกว่าจะดับความเห็นผิด ที่เคยยึดถือสภาพธรรมต่างๆ ว่า"เป็นเรา"อบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อนั้น จะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดได้เลยและเป็นการเข้าสู่ "กระแสนิพพาน" กระแสของการดับกิเลสต่อไป จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
นี่คือ "ประโยชน์"...ของการเข้าใจถูกที่ว่า (จิต) เห็นแล้ว รู้ว่า (รูป) สิ่งที่ปรากฏทางตา...เป็นสภาพธรรม (รูปธรรม) มีลักษณะอย่างนี้เท่านั้น ปรากฏได้ทางนี้เท่านั้น และจิตเห็น หรือ ธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฎทางตา..."ไม่ใช่เรา" แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น
รู้อย่างนี้ เพื่อ "ละ" ความเป็นเรา ทั้งหมดในชีวิตที่เคยยึดถือว่า "เป็นเรา" เจ้าค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอความกรุณา อธิบายความหมายของคำที่ขีดเส้นใต้ด้วยค่ะ
แต่พระอรหันต์ตื่นแล้ว ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกถึงอะไรๆ ทั้งหมดเป็น "ฉฬงคุเบกขา" ไม่หวั่นไหว เพราะว่า ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อ.
ฉฬังคุเบกขา เป็นอุเบกขาของพระอรหันต์ คือ เมื่อท่านเห็นรูปเป็นต้น ไม่ยินดีไม่ยินร้าย วางเฉยต่ออารมณ์เหล่านั้น ดังคำอธิบายจากอรรถกถาว่า
อุเบกขาใดเป็นธรรมบริสุทธิ์เป็นปกติในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาในทวาร ๖ ของพระขีณาสพเป็นอาการมีอยู่ที่มาในพระบาลีอย่างนี้ว่าภิกษุผู้เป็นขีณาสพในธรรมวินัยนี้เห็นรูป ด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติ มีความรู้สึกตัว วางเฉยอยู่เทียว ย่อมอยู่ ดังนี้ อุเบกขานี้ ชื่อว่า ฉฬังคุเบกขา
และอีกแห่งหนึ่งท่านอธิบายว่าเป็นวิปัสสนาปัญญา ดังข้อความว่า ก็ ฉฬังคุเบกขา นี้นั้นเป็นไปด้วยอำนาจความไม่ยินดี เป็นต้น ในอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ ของพระขีณาสพก็จริง ถึงอย่างนั้น ภิกษุนี้ ตั้งวิปัสสนาของตนด้วยความสำเร็จแห่งภาวนา ตามกำลังความเพียร ในฐานของ ฉฬังคุเบกขา ของพระขีณาสพ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาแล จึงชื่อว่า ฉฬังคุเบกขา
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา อาจารย์ประเชิญค่ะขอถามต่ออีกนิดนะคะ
พระอรหันต์ หมายถึงภิกษุขีณาสพ และ พระขีณาสพ...ใช่ไหมคะ
ขออภัยค่ะที่รบกวน
ได้ลองไปค้นมาจากข้อมูลเก่าๆ ได้คำตอบแล้วค่ะ
พระเสขบุคคล พระขีณาสพ
ขออนุโมทนาค่ะ
กิเลส กรรม สั่งสมวิบาก อนุสัยกิเลสยังมีอยู่ ก็สังสม อกุศลวิบากไปเรื่อยๆ เมื่อดับกิเลสได้แล้ว การสั่งสมอกุศลก็จบ และเมื่อได้รับ แสงสีเสียงก็เฉยๆ อยู่ในสภาพนี้ดีไหมเอ่ย ครับ