บันไดสู่ความเข้าใจขั้นสูง

 
พุทธรักษา
วันที่  18 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10714
อ่าน  1,347

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร พ.ศ. ๒๕๔๔

ท่านผู้ฟัง ในมัชฌิมนิกาย มีอยู่สูตรหนึ่ง ที่บอกหลักของการประพฤติปฏิบัติซึ่งมีผู้หนึ่งไปถามพระพุทธเจ้าว่า"การศึกษาทางโลก เขาก็บัญญัติการศึกษาไปตามลำดับพระองค์มีบ้างไหม ที่บัญญัติข้อปฏิบัติไปตามลำดับ "พระองค์ ตอบว่า มี.อย่างในสูตรนี้ ก็บอกว่า เริ่มตั้งแต่ ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นต้นไปอาตมาเข้าใจว่า ก่อนที่จะเข้าใจเรื่อง "สติปัฏฐาน ๔" นอกจากฟังให้เข้าใจแล้วต้องมีการอบรม เรื่องของศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ขึ้นไปตามลำดับด้วย

ท่านอาจารย์ เพราะไม่เข้าใจความหมายของ "วิสุทธิ" เจ้าค่ะ แม้ศีลจะเป็น ปาฏิโมกขสังวรศีล พระภิกษุทุกรูปควรรู้มิฉะนั้นไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา.แม้ว่าจะมีการประพฤติตามปาฏิโมกข์อย่างสมบูรณ์แต่ไม่มีการศึกษา คันถะธุระ และ วิปัสสนาธุระ ขณะนั้นก็ "เป็นเรา" เพราะฉะนั้น เพียงแค่รักษาศีลปาฏิโมกข์หรือศีลอื่นๆ ทั้งหมด แต่ที่จะวิสุทธิจาก "ความเป็นเรา" ก็ต่อเมื่อ ขณะนั้น เป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาเพราะเหตุว่า ไม่มีปัญญา ก็รักษาศีลได้ วิรัติทุจริตได้ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสภาพธรรม ไม่จำกัดเชื้อชาติ สภาพธรรม เช่น "การเห็น" หรือ "โลภะ" เป็นชาติไทย ชาติจีน หรือชาติอะไร

เพราะฉะนั้น ธรรมะ ก็คือ ธรรมะ ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมะให้เข้าใจแม้ว่าจะเป็นผู้มีศีลในพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตามขณะใดที่มีการวิรัติทุจริต ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือ "วิรตีเจตสิก" ทำกิจ วิรัติ (งดเว้น) ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้ามีศีล ขณะนั้นเป็น "กุศลจิต"

ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนาใด สามารถรักษาศีลได้ ตามสมควรบางแห่งอาจรักษาศีลมากกว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาถ้าเขาบัญญัติศีลเพิ่มเติมขึ้นมากกว่านี้ เขาก็ทำได้แต่ ไม่มีปัญญา ที่รู้ว่าขณะนั้น "เป็นธรรมะ" (ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน) เพราะฉะนั้น เพียงขั้นศีลอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะเป็น "ศีลวิสุทธิ" ได้ที่จะเป็นศีลวิสุทธิได้ ต้องมีปัญญา จากการฟังพระธรรม พระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะมีคำว่า"ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" นี้คือความแตกต่างของพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่นๆ พระพุทธศาสนามีคำสอนทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ก็คือ "อนัตตา"

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจว่า "ธรรมเป็นอนัตตา" อย่างไรขณะนั้น เป็นปาฏิโมกขสังวรศีล (หนึ่งในปาริวิสุทธิศีล ๔) แต่ไม่ใช่ "ศีลวิสุทธิ" ในพระสูตร เรื่อง "วิสุทธิ ๗" ไม่ว่าจะเป็น ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิต้องตามลำดับขั้น จนถึง ทิฏฐิวิสุทธิ และไม่ใช่แบบรถยนตร์ที่มี คำอุปมาว่า มีทางซึ่งต้องใช้รถถึง ๗ คันจากคันที่ ๑ ถึงตรงนี้แล้ว เปลี่ยนเป็นคันที่ ๒...๓...ถ้าตามพยัญชนะ เราก็คิดว่าเหมือนกัน คือจากตรงนี้แล้วถึงตรงโน้นแต่ความจริง การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เจ้าค่ะ ความรู้ ตั้งแต่ขั้นต้นที่จะเป็น ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ จนถึง ทิฏฐิวิสุทธิ จะต้องสืบต่อกันไป เหมือนการเดินทางที่ต้องต่อกัน ๗ ช่วง จะขาดช่วงหนึ่งช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้ และต้องตามลำดับ อย่าไปฟังคำอุปมาแล้วคิดเอาเอง แล้วเข้าใจผิด ว่าเราต้องลงจากรถคันหนึ่ง แล้วก็ไปขึ้นรถอีกคันหนึ่ง

ความรู้ที่สะสม อบรมมา ตั้งแต่ขั้นต้น ไม่สูญหาย และจะต้องสืบเนื่องกันถ้าไม่มีขั้นที่ ๑ ...ขั้นที่ ๒... ขั้นที่ ๓.... สืบต่อตามลำดับ ก็ไม่มีทางถึงขั้น "วิสุทธิ ๗" เพราะฉะนั้น ความรู้ทั้งหมดที่เกิดจากขั้นต้น ไม่ได้หายไป แล้วไปเอาความรู้ขั้นที่ ๒ ... ๓ มาแทน ไม่ใช่อย่างนั้น

การฟังพระธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ ประโยชน์สูงสุดคือ เพื่อ ความเข้าใจถูกความเข้าใจถูก ต้องสอดคล้องกันด้วยที่จะให้เข้าใจสอดคล้องกัน ในการศึกษาพระไตรปิฎกต้องเข้าใจถูกต้อง เรื่อง "จุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม" และไม่ทิ้งความเข้าใจขั้นต้น ซึ่งเป็น "บันไดสู่ความเข้าใจขั้นสูง"

ความเข้าใจขั้นที่สูงขึ้นๆ ต่อๆ ไป ยิ่งๆ ขึ้นไป เจ้าค่ะ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Komsan
วันที่ 18 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาผู้ตั้งกระทู้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
choonj
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

อย่างทีผมเคยเข้าใจในอคีต เช่น การเข้าใจทางโลก เขาก็เข้าใจบัญญัติเป็นขั้นเป็นตอน คือ ต้องเรียน ป. ๑ ก่อนค่อยเรียน ป. ๒ แต่การศึกษาประพฤติปฎิบัติธรรมไม่เหมือนการศึกษาทางโลก คือ ธรรมเป็นอนัตตา เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย เมื่อเกิดก็เป็นโอกาสให้ศึกษา เมื่อไม่เกิดจะทำให้เกิดเพื่อที่จะศึกษาก็ไม่ได้ ในขณะที่ธรรมเกิดและเสนอหน้าให้ศึกษาและมีการศึกษาโดยการฟังให้เข้าใจไม่ใช่เรา วิสุทธิต่างๆ ก็ครบ จึงไม่มีการทีจะศึกษาอะไรก่อนอะไรหลัง ไม่มี ป. ๑ ก่อนค่อย ป. ๒ ไม่มีรถคันที่ ๑ ก่อนค่อยคันที ๒ ๓ หรือ ๔ ๕ ๖ ๗ การทีไม่ขาดการฟัง และฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้เข้าใจ เป็นปันไดสู่การเข้าใจขั้นสูง ครับ พระอรหันต์ยังไม่ขาดการฟัง ทั้งๆ ทีท่านดับทุกอย่างแล้ว เราที่จะศึกษาก็ยิ่งต้องไม่ขาดการฟัง และฟังให้เป็นธรรมไม่ใช่เรา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

การศึกษาธรรมะมี 3 อย่างคือ

1. อลคัททูปริยัติ ศึกษาแบบจับงูพิษข้างหาง ไม่ได้เกิดประโยชน์กับตัวเองศึกษาแล้ว ข่มคนอื่น ว่าเราเก่งกว่าเป็นผู้รู้

2. นิตถรณปริยัติ ศึกษาแบบเพื่อขัดเกลากิเลสตนเอง เพื่อสละกิเลส เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์

3. ภัณฑาคาริกปริยัติ เป็นการศึกษาของพระอรหันต์ ศึกษาเพื่อรักษาพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์กับคนรุ่นหลังค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ความเข้าใจพระธรรมที่เพิ่มขึ้น ก็เหมือนกับการก้าวเดินไปข้างหน้า ไปสู่หนทางแห่งความเจริญงอกงามของกุศลธรรม ถ้าไม่มีก้าวแรก ก้าวที่ 8, 9, 10 ก็มีไม่ได้ และก้าวแรกจะกระโดดไปเป็นก้าวที่ 10 ทันทีโดยที่ไม่ได้ก้าวต่อๆ กันไปจาก 1 เป็น 2, 3, 4, 5,6, 7, 8, 9...ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน ต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรมต่อไป โดยไม่ลืมจุดประสงค์ว่า ไม่ใช่เพื่อให้เราก้าวหน้า แต่เพื่อให้เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าในขณะนี้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะ

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

การฟังพระธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ ประโยชน์สูงสุดคือ เพื่อ ความเข้าใจถูกความเข้าใจถูก ต้องสอดคล้องกันด้วยที่จะให้เข้าใจสอดคล้องกัน ในการศึกษาพระไตรปิฎกต้องเข้าใจถูกต้อง เรื่อง"จุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม"และไม่ทิ้งความเข้าใจขั้นต้น ซึ่งเป็น "บันไดสู่ความเข้าใจขั้นสูง"

ความเข้าใจขั้นที่สูงขึ้นๆ ต่อๆ ไป ยิ่งๆ ขึ้นไป เจ้าค่ะ
ความเข้าใจถูกขั้นต้นที่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นสูงๆ ต่อๆ ไปก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ แล้วค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาจนกว่าสติปัฎฐานเกิดรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎตรงตามความเป็นจริง จนกว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมไม่ใช่เรา และขณะที่สติปัฎฐานเกิดนั้นศีลย่อมบริสุทธิ์โดยที่ไม่มีตัวตนที่ไปงดเว้นวิรัติ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คุณ
วันที่ 1 พ.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ