ขอเชิญกล่าวธรรมิกถาเพื่อความอาจหาญร่าเริง

 
suwit02
วันที่  26 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10765
อ่าน  3,786

ขอพระสัทธรรมอันงดงาม บังเกิดแต่ดอกบัว คือพระโอษฐ์ของพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ทำให้ใจของท่านทั้งหลายเบิกบาน

บัดนี้ใกล้ถึงกาลที่โลกบัญญัติว่าเป็นปีใหม่แล้ว วันเวลาล่วงเลย สังขตธรรมทั้งปวงย่อมเสื่อมสิ้นไป ขอกัลยาณมิตรทั้งหลาย ได้โปรดกล่าวคำสุภาษิต ซึ่งทำให้อาจหาญ ร่าเริง บันเทิงใจ ในธรรม เป็นธรรมบรรณาการแก่กันและกัน เทอญ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอก มงคลอันอุดมด้วยเถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า

การไม่คบพาล การคบบัณฑิต การบูชาผู้ที่ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันอุดม

ขอเชิญอ่าน ...

นี้เป็นอุดมมงคล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เกมส์
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

"บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดีจึงห้ามจิตเสียจักบาปเพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ใจจะยินดีในบาป" (พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่๑ ภาคที่๒ ตอนที่๓)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เกมส์
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในพระสูตรว่า...

"ถ้าผู้ใดรู้ผลของทานเหมือนเรารู้แล้วไซร้ผู้นั้นย่อมไม่บริโภคก่อนที่จะให้ทานเลย"

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ๑๐ - ถ้าผู้ใดรู้ผลของทาน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

ขณะนี้นามธรรม รูปธรรมกำลังทยอยกันเกิดใหม่และดับไปอย่างรวดเร็วทุกๆ ขณะแต่ช่างแสนที่จะรู้ยาก แม้ว่าจะมีปรากฏให้พอรู้ว่าขณะนี้ไม่มีของเก่าเลยสักขณะฤกษ์ดีของบัณฑิตคือ ขณะที่จิตเป็นกุศล ไม่ปะปนด้วยโลภะ โทสะ โมหะฤกษ์ดีปีใหม่ของคนพาลอันเกาะเกี่ยวด้วยกาม จะมีประโยชน์อะไรผู้หลงยึดถือวันเวลาอันเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระเป็นไป ย่อมอยู่เป็นทุกข์ย่อมสะดุ้งและหวาดผวาไปกับความแปรปรวนของโลกธรรม

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 26 ธ.ค. 2551

ผู้มีปัญญาไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรหวังถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึงสิ่งใดที่ล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็ละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึงเล่า สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึงบุคคลใดมาเห็นแจ้งซึ่งธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ บุคคลนั้นได้รู้ธรรมนั้นแล้วควรเจริญไว้เนืองๆ อย่าให้ง่อนแง่นคลอนแคลน ความเพียรเผากิเลสควรทำวันนี้แหละใครเล่าพึงรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้เพราะความผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายมุนีผู้สงบย่อมสรรเสริญ บุคคลผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ผู้มีความเพียรเผากิเลส ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ
ม.อุปริ.๕๒๗ ภัทเทกรัตตสูตร

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
sirikorn
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

ขึ้นชื่อว่าชีวิต มันก็เหมือนกับฟองน้ำ เหมือนหยาดน้ำค้างบนใบหญ้า มีการแตกกระจายในทันทีเป็นธรรมดา ใครจะรู้คติของชีวิตนั้นได้ มันจะแตกสลายในขณะใด โลกหน้า เป็นของที่ต้องไปแน่นอนเทียว เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงรู้ด้วยปัญญาในเรื่องนั้น ต้องรู้ความที่ชีวิตรู้ได้ยาก และโลกหน้าเป็นที่จำต้องไปแน่นอน ก็แลเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องตัดความยุ่งทุกอย่างแล้วทำกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะผู้เกิดแล้วไม่ตายย่อมไม่มี (พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่มที่ ๑๔ มหาโควินทสูตร หน้า ๖๙)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นิพเพธิกปัญญาสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

การคบสัตบุรุษ ๑

การฟังสัทธรรม ๑

การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑

การปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
suwit02
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

สาธุ

บุตรเหล่าใด ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ผู้แก่แล้ว บุตรเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุตร ในที่ประชุมใดไม่มีบัณฑิต ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา ชนเหล่าใดไม่พูดเป็นธรรม ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตคนผู้ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว พูดเป็นธรรม นั่นแล ชื่อว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล เมื่อไม่พูดใครๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิตแต่ว่าบัณฑิตเมื่อพูดแสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ว่าเป็นบัณฑิตเพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤาษี ฤาษีทั้งหลาย มีคำสุภาษิตเป็นธง ธรรมแล เป็นธงของฤาษีทั้งหลาย

มหาสุตโสมชาดก

ขอเชิญอ่าน...

ใกล้ปีใหม่แล้ว ให้พรตัวเองบ้างดีไหม

กัลยาณชนทั้งหลาย ที่ยังมิได้มาเยี่ยมเยียนเวบบอร์ดนี้

ขอเชิญมาเถิด เพราะว่า ที่นี่น่ารื่นรมย์

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กาลเวลาย่อมผ่านพ้นไป วัยย่อมเสื่อมสิ้นไปตามลำดับ ใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกทีๆ โดยที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ (ปีเก่าปีใหม่เป็นเพียงสมมติกันเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นชีวิตที่ดำเนินไปแต่ละขณะๆ) ชีวิตของแต่ละบุคคลย่อมมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรที่จะประมาทเลย ในชีวิตประจำวันกิเลสอกุศลมีมาก เมื่อกิเลสอกุศลมีมาก ไม่มีอะไรที่มีมาดับ มาละได้ นอกจากเริ่มฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สั่งสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวทีจะทำให้กิเลสอกุศลเบาบางลงได้ ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

ศีลธรรมถดถอย ต้องเพิ่มปรมัตถธรรม

คนทำบาปกรรม เพราะขาดสัมมาทิฏฐิ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้ หรือ ลูกมือของช่างไม้ย่อมปรากฏด้ามมีดให้เห็น แต่ว่าช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ วานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่าด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ หน้าที่ ๓๕๐

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๑

"บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว เป็นผู้เตรียมพร้อมเพื่อจะไปสำนักของพระยายม, อนึ่ง แม้ที่พัก ในระหว่างทางของท่าน ก็ยังไม่มี อนึ่ง ถึงเสบียงทางของท่าน ก็หามีไม่ ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก"

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
พีรพงษ์ใจหาญ
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
prachern.s
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๑๕๓

"ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่ประสพสิ่งอันเป็นสาระ ชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่ เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสพสิ่งเป็นสาระ"

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ อวิชชาสูตร ข้อความบางตอน มีว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว วิชชา และ วิมุตติ ว่า มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น อาหาร ของวิชชา และ วิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น อาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น อาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

(เพื่อที่จะไม่ให้ขาดสติ และประพฤติทุจริต เพราะถ้ากิเลสยังมีกำลังแรง เป็นผู้ที่กระทำทุจริตอยู่เสมอ และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิดก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานเป็นสติขั้นที่สูงกว่าสติทั่วๆ ไป)

แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร เป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ

แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา

แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้

การคบสัปบุรุษ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์

การฟังสัทธรรม ที่บริบูรณ์ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์

ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์

สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ย่อมยังวิชชา และ วิมุตติ ให้บริบูรณ์

วิชชา และ วิมุตตินี้ มีอาหาร อย่างนี้ และบริบูรณ์ อย่างนี้ ฯ

ข้อมูลจาก อาหารของสติปัฏฐาน.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 31 ธ.ค. 2551

เมื่อทุกข์มีอยู่ แม้ธรรมดาสุขก็ย่อมมี ฉันใด

เมื่อภพมีอยู่ แม้ภาวะที่มิใช่ภพ บุคคลก็พึงปรารถนาฉันนั้น.

เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นตรงกันข้ามก็มีอยู่ ฉันใด

เมื่อไฟ ๓ กองมีอยู่ นิพพานเครื่องดับไฟ บุคคลก็พึงปรารถนา ฉันนั้น.

เมื่อความชั่วมีอยู่ แม้ความดีก็ย่อมมีฉันใด

เมื่อชาติ (ความเกิด) มีอยู่ แม้ที่มิใช่ชาติ (ไม่เกิด) บุคคลก็พึงปรารถนา ฉันนั้น (คำกล่าวของท่านสุเมธโพธิสัตว์)

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
suwit02
วันที่ 31 ธ.ค. 2551

ที่นี่น่ารื่นรมย์

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
choonj
วันที่ 1 ม.ค. 2552

เมื่อมีการฟังธรรมแล้วเข้าใจ ฟังนานๆ เข้า ก็จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ปีใหม่ไม่มี มีแต่การเกิดดับของ จิต เจตสิก รูป

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
pornpaon
วันที่ 6 ม.ค. 2552

ธรรมเตือนใจ

ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสิรฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสิรฐ

จากสังยุตตนิกาย สคาถวรรค วิตตสูตร

ขออนุโมทนาคุณสุวิทย์ ๐๒

ขออนุโมทนาในกุศลจิต กุศลศรัทธา และกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
กาลัญญู
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ชาวนาไขน้ำเข้านา ช่างศรดัดลูกศร ช่างไม้ถากไม้ บัณฑิตฝึกตนเอง จากเรื่อง บัณฑิตสามเณร ธรรมบทแปล ภาคที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ