บุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้า - ปาราสริยเถรคาถา

 
พุทธรักษา
วันที่  26 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10769
อ่าน  1,701

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดย คุณสงวน สุจริตกุล.

จากข้อความบางตอน ในขุททกนิกาย เถรคาถา

ปาราสริยเถรคาถา

จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวกไม่ประพฤติพระสัทธรรม เสียเลยเป็นเพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัตร์เท่านั้น ปรารถนาแต่การสรรเสริญ ถ่ายเดียวมุ่งหวังแต่ลาภ และ สักการะ เมื่อธรรม เป็นเครื่องทำลายต่างๆ มีประการต่างๆ เป็นอยู่อย่างนี้. การบรรลุธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือการตามรักษาธรรม ที่ได้บรรลุแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือนอย่างเมื่อครั้งที่ พระศาสดา ยังทรงพระชนม์อยู่ มุนี พึงตั้งสติ เที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้า ตั้งสติ เที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น

พระโยคี เมื่อตามระลึกถึงวิปัสสนา ที่ปรารถนาแล้ว ในกาลก่อนไม่ทอดทิ้งวัตรสำหรับ ภาวนาวิธีเหล่านั้นเสียถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้าย ภายหลังแต่ก็พึงบรรลุอมตบทได้ พระปาราสริยเถระ ผู้เป็นสมณะ มีอินทรีย์ อันอบรมแล้วเป็นพราหมณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีภพใหม่สิ้นแล้วครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็ปรินิพพานในสาลวัน

อย่าลืมข้อความ ที่ว่า ถึงเวลานี้ จะเป็นเวลาสุดท้าย ภายหลัง ก็พึง บรรลุอมตบท ได้ ถ้าเป็นผู้ที่เหมือนกับมุนี ที่พึงตั้งสติ เที่ยวไปในบ้านเหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติ เที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น

ท่านผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์กรุณาอธิบาย คำว่าเหมือนมุนี ที่ตั้งสติ เที่ยวไปในบ้านเหมือนกับบุรุษ ผู้ไม่ได้สวมรองเท้า เข้าไปในที่มีหนามหมายความว่ายังไงครับ

ท่านอาจารย์ เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้า ตั้งสติ เที่ยวไป ในถิ่น ที่มีหนาม ถ้าไม่ได้ใส่รองเท้า ก็ต้องระวังใช่ไหมคะ ระวังที่จะเจ็บเท้าเวลาที่เหยียบหนาม ฉันใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าสติ ไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏก็ต้องเดือดร้อน (เหมือนเจ็บปวดเพราะโดนหนาม) เพราะความไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดย ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลซึ่งเป็นเหตุให้ กิเลส และ อกุศลธรรม ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นจากการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกโดยการไม่ระลึกรู้ ลักษณะที่แท้จริง ของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

ขณะนี้ เต็มไปด้วยหนาม (อกุศลธรรม) ทั้ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงก็เสมือนกับการเหยียบย่ำหนาม เพราะว่า มีอกุศลเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นโทษภัยหนาม คือ โทษภัยของกิเลส อกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น ต้องระวังให้ดี ด้วยการระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

หนามทางตา หลังเห็นแล้ว จิตเป็นอกุศล

หนามทางหู หลังได้ยินแล้ว จิตเป็นอกุศล

หนามทางจมูก หลังได้กลิ่นแล้ว จิตเป็นอกุศล

หนามทางลิ้น หลังลิ้มรสแล้ว จิตเป็นอกุศล

หนามทางกาย หลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว จิตเป็นอกุศล

หนามทางใจ คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ดับไปด้วยจิตที่เป็นอกุศล แล้วก็คิดถึงเรื่องราว บัญญัติ ด้วยจิตทีเป็นอกุศล

วันหนึ่งๆ ผู้ที่หลงลืมสติ ต่างก็หลงเดินเท้าเปล่าด้วยความประมาทเผลอไปเหยียบหนามเข้าด้วยความไม่รู้...นับครั้งไม่ถ้วนถ้าขาดสติสัมปชัญญะก็ยากที่จะเห็นความอันตรายของทางเดินที่เต็มไปด้วยหนามในสังสารวัฏฏ์

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
คนเจ้าโทสะ
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

หนามตำทีหนึ่ง ... ก็สะดุ้งทีหนึ่ง แต่..ก็ยังดีกว่า หนามเต็มเท้าแต่ไม่รู้สึกเจ็บ บางคน .. กลับรู้สึกจั๊กกระจี้ ... สนุกดี

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะใดที่บุคคลเกิดความยินดี พอใจ ติดข้อง หรือ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นย่อมเป็นผู้ถูกอกุศลธรรมครอบงำ (ถูกกิเลสทิ่มแทงจิตใจ) ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นกุศล ขณะที่เป็นวิบาก และขณะที่เป็นกิริยา ผู้ที่เป็นปุถุชนนั้น กิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ เพราะการได้สั่งสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้น สำหรับบุคคลผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือ ไม่น่าปรารถนาก็ตาม ย่อมเป็นผู้ไม่หวั่นไปด้วยอกุศลประการต่างๆ จึงไม่ถูกหนามทิ่มแทงจิตใจอีกแล้ว แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่หมดกิเลสแล้วกับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่กำลังศึกษาพระธรรมยังเป็นผู้ที่ไม่หมดกิเลสจึงต้องศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป เพื่อความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นจากความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น อันจะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Komsan
วันที่ 28 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

ในชีวิตปัจจุบันเกือบทั้งวันทันทีที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสและการคิดนึกก็ติดข้องในอารมณ์นั้นทันที เปรียบกับเมื่อไม่ใส่รองเท้าก็เหยียบหนาม อกุศลจิตก็เกิดทันที มีเพียงหนทางเดียวคือการอบรมเจริญสติปัฎฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎตรงตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 6 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 24 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ