หิริ โอตตัปปะ วิตก

 
เกมส์
วันที่  31 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10812
อ่าน  5,475

สวัสดีครับ

ขอรบกวนถามดังนี้ครับ

๑. หิริเจตสิก / โอตตัปปะเจตสิก มักเกิดคู่กันเสมอหรือเปล่าครับ และเกิดกับอกุศลจิตได้หรือเปล่าครับ ไม่ทราบว่า หิริ / โอตตัปปะนี้ เกิดก่อนที่จะกระทำอกุศลกรรมหรือว่าสามารถเกิดหลังกระทำอกุศลกรรมก็ได้

๒. วิตกเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตนั้น เช่น เวลาที่นึกกลัวผลของอกุศลกรรมที่จะได้รับ ขณะนั้นสามารถมีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้หรือเปล่าครับ ผมรู้สึกว่าอกุศลวิตก และหิริโอตตัปปะคล้ายกันมากครับ จนไม่ทราบว่า หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมประจำใจของเทวดาได้อย่างไร เพราะมีความละอายและกลัวอยู่ ใจไม่ขุ่นมัวเหรอครับ อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีอกุศลวิตกถึงอกุศลกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ จะไม่เป็นพหุลกรรมฝ่ายอกุศลเหรอครับ แต่ก็เคยได้อ่านเจอว่านึกถึงอกุศลกรรมบ่อยๆ จะเป็นเหตุให้เกิดหิริโอตตัปปะ ซึ่งช่วยอุปการะสติและสัมปชัญญะ

ขอช่วยอธิบายเรื่องนี้ทีครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 1 ม.ค. 2552

๑. หิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิก เมื่อเกิดย่อมเกิดพร้อมกันเสมอ ไม่ก่อนไม่หลัง เพราะเป็นเจตสิกประเภทโสภณสาธารณะ ไม่เกิดร่วมกับอกุศล

๒. ขณะที่อกุศลจิตเกิดหิริและโอตตัปปะไม่เกิด แต่อาจจะเกิดสลับได้ หิริและโอตตัปปะ ในบางพระสูตรแสดงว่าเป็นเทวธรรม เพราะเป็นธรรมฝ่ายกุศล ธรรมฝ่ายกุศลทำให้เกิดเป็นเทวดา ขณะที่หิริและโอตตัปปะเกิดขึ้น จิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว หิริและโอตตัปปะ เป็นเหตุใกล้ให้กุศลศีลเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 1 ม.ค. 2552

หิริ คือ ความละอายต่อบาป

โอตตัปปะ คือการเกรงกลัวบาป

ท่านเปรียบหิริเหมือนก้อนอุจจาระ คือ รังเกียจที่จะถูกต้องหรือสัมผัส ส่วนโอตตัปปะ ท่านเปรียบก้อนถ่านที่ติดไฟ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เกมส์
วันที่ 1 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ อกุศลคล้ายกุศล ประมาทไม่ได้เลยจริงๆ เพราะเช่นนี้เองจึงต้องศึกษาเพื่อเข้าใจจนจรดกระดูก จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญารู้ความต่างกันของกุศลและอกุศล

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 2 ม.ค. 2552

๑. หิริโอตตัปปะ เกิดก่อนกระทำอกุศลกรรมก็ได้ เกิดหลังกระทำอกุศลกรรมก็ได้หรืออาจจะไม่เกิดก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่จะไม่เกิดพร้อมกับขณะที่จิตเป็นอกุศลครับ และไม่ต้องถึงกับกระทำอกุศลกรรม หิริโอตตัปปะก็เกิดกับกุศลจิตในขั้นทาน ขั้นความสงบของจิต หรือขั้นสติปัฏฐานก็ได้ ขณะใดที่หิริโอตตัปปะเกิดกับจิต ขณะนั้นก็ถอยกลับจากการที่จะตกไปเป็นอกุศล

๒. ที่เราคิดว่าอกุศลคล้ายกุศล เพราะเราเคยชินกับความรู้สึกของตัวเราเอง ที่หลงยึดถือว่าสิ่งต่างๆ เป็นเรา เป็นของเรา เป็นอัตตา มานานแสนนาน แต่เราไม่เคยชินกับ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า "เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา" ซึ่งตามความเป็นจริง ธรรมที่สงบกับธรรมที่ไม่สงบนั้น ต่างกันมากโดยลักษณะ แต่ก็แสนยากที่จะรู้ ความต่างในขณะที่ ธรรมที่สงบหรือธรรมที่ไม่สงบเกิด เพราะเราเคยชินที่จะยึดถือทั้งขณะที่สงบ และ ไม่สงบว่าเป็นเรา เป็นของเรา แม้จะรู้ว่า ขณะใดสงบ แต่ก็ ไม่รู้ว่า ความจริงเป็น "ธรรม" ต่างหากที่สงบ ไม่ใช่เราสงบ ขณะที่ธรรมที่สงบเกิด ขณะนั้นจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เป็นธรรมที่มีหิริโอตตัปปะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่ต้องคิดถึงคำว่า ละอายต่อบาปคือ หิริ กลัวต่อบาปคือ โอตตัปปะ ก็ได้

แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเจตสิกทั้งสองเป็นโสภณสาธารณเจตสิก จึงไม่มีทางที่จะทำให้จิตขุ่นมัวเหมือนกับขณะที่เป็นอกุศล แต่ด้วยความที่ไม่ชินนั่นเอง แม้แต่ ในขณะที่หิริโอตตัปปะเกิด และปรากฏลักษณะให้รู้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็หลงคิดว่าหิริ โอตตัปปะนั้นเป็นเรา มีอยู่ในเรา แต่ว่าความจริงทั้งหิริและโอตตัปปะ ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นครับ

หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลก ผู้ที่เกิดเป็นเทวดาด้วยผลของกุศลกรรม เป็นผู้ที่ยังจิตไม่ให้ตกไปสู่อกุศล ด้วยการกระทำกุศลขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นภาวนา เมื่อกุศลกรรมสำเร็จลงไป ถึงกาลที่กุศลกรรมให้ผล ก็สามารถนำเกิดในสวรรค์ที่มีความประณีตยิ่งกว่าในมนุสสภูมิได้ อย่างไรก็ตาม หิริโอตตัปปะที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ประเสริฐกว่า เพราะขณะนั้นละอาย เกรงกลัวต่อความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งปวง มีการสำรวมอินทรีย์ไม่ให้จิตไหลไปตามกระแสของอกุศล การนึกถึงอกุศลกรรมที่เคยทำ ถ้าปัญญาเกิด ย่อมมีการพิจารณาโดยความแยบคาย เป็นกุศลวิตก จิตในขณะนั้นย่อมตั้งมั่นเพราะตรึกไปในทางที่เป็นกุศล แต่ถ้ากุศลไม่เกิด อกุศลเกิดแทน การพิจารณาก็ย่อมจะไม่แยบคาย เพราะเป็นอกุศลวิตก จิตในขณะนั้นย่อมไม่ตั้งมั่นแต่หวั่นไหวและคลอนแคลน เพราะตรึกไปในทางที่เป็นอกุศล เช่น คิดกลัวอันตรายด้วยความทุกข์และกังวลใจว่า ในอนาคตตนจะต้องได้รับภัยจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำลงไปแล้วอย่างทุกข์ทรมานเพียงใด เป็นต้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
narong.p
วันที่ 2 ม.ค. 2552

การศึกษาธรรม ต้องเป็นไปตามลำดับ ความรู้ความเข้าใจขั้นฟัง ไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ และไม่ควรคิดที่จะละความเป็นตัวตน เพราะโลภะจะคอยแทรกและนำให้หลงทางตลอดเวลา ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เท่านั้น

เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงขณะนั้นก็จะรู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เรา ได้ก่อน แต่ยังเกิดน้อยและไม่บ่อย อกุศลธรรมยังเกิดสลับอีกมาก ดังนั้น การรู้ว่าเป็นกุศล อกุศลนั้นยิ่งไกลกว่าและไม่ควรคิดถึงเช่นกัน ต้องไม่ลืมและมั่นคงจริงๆ ว่า "ฟังให้เข้าใจในธรรม ที่ได้ยินได้ฟัง เท่านั้นจริงๆ "

การศึกษาธรรม คือขณะนี้เท่านั้น ไม่ใช่ขณะอื่นเลยและต้องรู้เสมอว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก สุดประมาณ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. หิริและโอตตัปปะเจตสิกเป็นธรรมฝ่ายดีไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งกุศลและอกุศลเกิดดับสลับกันไปตามเหตุปัจจัย ขณะใดที่กุศลจิตเกิดต้องมีหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน ทั้งจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในเมื่อกุศลและอกุศลเกิดสลับกัน หิริและโอตตัปปะจึงเกิดได้ทั้งก่อนอกุศลและหลังจากเป็นกุศลครับ

๒. หิริและโอตตัปปะคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ดังนั้นหากเราเข้าใจตามภาษาไทยก็คิดว่าจะต้องเป็นความละอายหรือเกรงกลัว แต่หิริคือ ความละอายที่จะไม่ทำอกุศล เกรงกลัวเห็นโทษในอกุศล เห็นภัยในอบายภูมิจึงไม่ทำอกุศล จึงไม่ใช่ความรู้สึกละอายตามที่เข้าใจกันและก็ไม่ใช่ความเกรงกลัวอันเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของโอตตัปปะครับ กุศลย่อมผ่องใสเพราะความละอายที่จะไม่ทำบาปและเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลอันนำไปสู่อบายภูมิครับ นี่คือลักษณะของหิริ โอตตัปปะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2552

ถ้ามีอกุศลวิตกถึงอกุศลกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ จะไม่เป็นพหุลกรรมฝ่ายอกุศลเหรอครับ แต่ก็เคยได้อ่านเจอว่านึกถึงอกุศลกรรมบ่อยๆ จะเป็นเหตุให้เกิดหิริโอตตัปปะ ซึ่งช่วยอุปการะสติและสัมปชัญญะ ขอช่วยอธิบายเรื่องนี้ทีครับ

ขึ้นอยู่กับปัญญาเป็นสำคัญ นึกถึงอกุศลของตนเองเพราะเห็นโทษและเพื่อสำรวมระวังต่อไป นึกถึงแล้วเดือดร้อนก็ได้ ส่วนจะเป็นพหุลกรรมหรือไม่นั้น หมายความว่าจะต้องทำอกุศลกรรมนั้นบ่อยๆ เสพคุ้นบ่อยๆ ก็ย่อมเป็นพหุลกรรมได้ครับ แต่โดยทั่วไปหากนึกคิดถึงอกุศลกรรมที่ทำไว้ใกล้ตายย่อมเป็นอาสันกรรมครับ

ประการที่สำคัญ คือ การเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เราไม่เช่นนั้นเราก็จะหาชื่อ ใส่ชื่อให้ธรรม ว่าขณะไหนเป็นหิริ เป็นโอตัปปะพยายามแยก แต่ธรรมมีแล้วในขณะนี้ การรู้ตัวจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงเป็นหนทางที่ถูกต้องครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เกมส์
วันที่ 2 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาทุกท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
choonj
วันที่ 3 ม.ค. 2552

ขอขอบคุณและอนุโมทนาความเห็นที่ ๔ อ่านแล้วไพเราะมากครับ ทำให้คิดไปว่าจะมีสักกี่คนที่ได้อ่านแล้วเห็นประโยชน์ที่เขียนมานี้ ถ้ามีน้อยก็น่าเสียดาย ว่างๆ ขอความรู้เรื่องสงบกับสมาธิต่างกันอย่างไรและเกี่ยวข้องกันอย่างไร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 ก.ย. 2564

ละเอียดมากค่ะ สภาพธรรมที่เป็นกุศล เกิดขณะใด ขณะนั้นย่อมต้องเกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่ผ่องใส หิริ (ความละอายต่ออกุศล) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) จึงไม่ใช่ความกลัวที่เป็นอกุศล

กราบยินดีและขอบพระคุณในธรรมทานด้วยความเคารพค่ะ

ศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกที่

หิริ และ โอตตัปปะ นั้น สำคัญไฉน

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ