การเจริญสติปัฏฐาน มีโทษไหม ?
(พระเจดีย์ ณ วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
... ข้อความบางตอนจาก ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๕๒
บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
... การเจริญสติปัฏฐาน มีโทษไหม ...
Q : ที่บอกว่า บุคคลใดก็ตามที่รู้จักที่จะเจริญสติปัฏฐาน
ในชีวิตประจำวัน จะเป็นการสร้างสมความรู้สึก conciousmind จะมีส่วนเป็นอิทธิพลไหมคะ ถ้าเผื่อบุคคลนั้นได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างดี อย่างถูกต้อง กลายเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม เพรียบพร้อมไปด้วยศีลธรรม และเมื่อไปเรียนสมถะวิปัสสนานั้น sub concious mind จะไม่เกิดเป็นรูปนิมิต ไปในทางเลวในอนาคต ถ้าเมื่อได้ศึกษาต่อไปเท่านั้นใช่หรือไม่ เพราะว่าดิฉันได้ยินมาว่า อย่างบางคนได้เจริญวิปัสสนาต่อไปแล้ว ทำให้เกิดติดนิมิตในทางที่ไม่ดี และทำให้เกิดภาพหลอน หรือทำให้เกิดความกลัว และมีนิมิตในทางที่ชั่วร้าย ถ้าเผื่อว่าการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันดีนั้น ก็หมายความ (ว่า) sub concious mind ของบุคคลนั้น จะเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม และทำให้เจริญสติปัญญาขั้นสูงไปตามลำดับเช่นนั้นใช่ไหมคะ
A : ที่ว่าการเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เกิดโทษนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เป็นหนทางที่สำคัญและเป็นคุณธรรมด้วย และสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน เป็นการขัดเกลาทั้งกิเลสหยาบ กลาง (และ) ละเอียด เพราะเหตุว่าการขัดเกลาทีละขั้น ... ก็มี
อย่างท่านที่เคยศึกษาเรื่องของ "ศีลธรรม มารยาทต่างๆ " แล้วท่านก็พยายามจะประพฤติในขอบเขตของศีล-ธรรมและมารยาทที่ดีงาม แต่ว่าในขณะนั้นเป็นตัวตนเป็นท่านที่กำลังขัดเกลาจิตใจ แต่ว่าเป็นไปในทางด้านดีนั่นก็ขั้นหนึ่ง
แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่ว่าพอมีสติแล้วจะไม่ขัดเกลา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เวลาที่จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ในทิศทาง ด้วยกิริยา อาการที่ไม่สมควร มีการระลึกได้ เป็นสติลักษณะของสติคือการระลึกได้ ถ้าระลึกได้แต่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็อาจจะปรับปรุงกิริยาอาการมารยาท ให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรมและมารยาทที่ดีงาม แต่ถ้าท่านรู้ลักษณะของนามและรูปด้วย (รู้) ความไวของจิต (มี) ความรู้ของจิตเพิ่มขึ้นว่าแม้ในขณะนั้น กิริยาอาการที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีงามนั้น เป็นการขัดเกลาทางกาย ทางวาจาก็จริง ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่ท่านศึกษา สะสม แม้แต่การที่จะเปลี่ยนไปขัดเกลาไปนั้นก็เป็นนามเป็นรูปที่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติยิ่งสติเกิดมากก็ยิ่งขัดเกลาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย
แต่จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เข้าใจว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นไปในแบบของสมาธินั้นไม่ขัดเกลาอะไร เพราะเหตุว่าไม่มีสติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะพูด ก็ไม่มีการระลึกได้ เป็นผู้หลงลืมสติ
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งท่านอาจจะยังไม่เห็นผลในตอนต้น เพราะว่าโดยมาก ทุกท่านใจเร็ว หวังที่ว่ามีสติ ก็จะให้มีมากๆ ทีเดียว มีปัญญา ก็ให้แทงตลอดรู้แจ้งอริยสัจจ์เลย แต่ว่าเรื่องของกิเลสที่หนาแน่นเหนียวแน่น ทำไมท่านไม่คิดบ้างว่าจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้ง รู้ชัดรู้ทั่วจริงๆ จึงจะละได้
เพราะฉะนั้น ถ้าปกติของท่านเพิ่มการมีสติขึ้นก็จะทำให้ท่านรู้จิตใจของท่านที่เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้างและที่กำลังจะล่วงเป็นทุจริต ท่านก็สามารถที่จะวิรัติหรือสตินั่นเองก็วัรัติทุจริต แต่ข้อสำคัญก็คือ อย่าหวังผลโดยรวดเร็วที่จะบรรลุมรรคผล พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ถ้าเหตุสมควรแก่ผลแล้วผลย่อมเกิด ช้าหรือเร็วนั่นก็แล้วแต่เหตุ คือ สติที่เกิดขึ้น และปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น ขอให้เข้าใจว่าจุดประสงค์ ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่เพื่อความสงบ แต่จุดประสงค์เพื่อการเจริญปัญญา
(พระพุทธรูปในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
... พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ทางนี้เป็นทางเอก
๐ เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์๐ เพื่อก้าวล่วงความโศกและปริเทวะ
๐ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส๐ เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง
๐ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง.
ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ
(ข้อความบางตอนจาก)
๑๐. สติปัฏฐานสูตร
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ ๖๐๖
... คลิกเพื่ออ่าน ...
ทำไมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่นั่งสมาธิ หรือสอนให้ปฏิบัติเลย
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สติปัฏฐานไม่มีโทษแต่ละสิ่งที่มีโทษคือกิเลสประการต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดโทษคือความไม่รู้ ปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานละความไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมสามารถละกิเลส ละสิ่งมีโทษได้ทุกๆ ประการ
ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 209
มหาสติปัฏฐานสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์ และโทมนัสเพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔ อย่าง
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์