ครูที่ควรเคารพ

 
พุทธรักษา
วันที่  12 ม.ค. 2552
หมายเลข  10896
อ่าน  6,465

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

แนวทางเจริญวิปัสสนาโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ใน "นาวาสูตร" ที่ ๘ มีข้อความว่า ก็บุคคล พึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้นเหมือนเทวดา บูชาพระอินทร์ ฉะนั้น

การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะมีความนอบน้อมเคารพ ในครูอาจารย์หรือ ผู้ที่ให้ความเข้าใจเรื่องพระธรรมนั้น ก็ต้องกระทำ ในฐานะที่สมควรด้วย

เพราะเหตุว่า ในบางครั้ง ท่านผู้นั้นเคารพครูอาจารย์ จนเกินพระรัตนตรัย ต้องขออภัยที่ใช้คำนี้เพราะเหตุว่า บางท่าน ไม่สนใจที่จะสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยแล้วแต่ว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ท่านนั้น จะกล่าวว่าอย่างไรก็พอใจในเหตุผล ของครูอาจารย์นั้น โดยไม่เทียบเคียงเหตุผล ไม่สอบทานกับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เพราะการเคารพบุคคล ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ก็ต้องเคารพ ในส่วนที่เป็นครูอาจารย์แต่ไม่เหนือไปกว่า การเคารพพระรัตนตรัย นั่นคือ การเคารพ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์

การเคารพครูอาจารย์ ในความเมตตา ที่ท่านอนุเคราะห์แสดงธรรมอุปการะ เกื้อกูลให้ได้เข้าใจพระธรรมต้องมีการสอบทานธรรมที่แสดงนั้น กับพระธรรมวินัย จนกระทั่งได้เหตุผลแต่ไม่ใช่ว่าจะไปลบหลู่ ครูบาอาจารย์ แม้การแสดงธรรมนั้น จะคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ที่ได้สอบทานแล้ว

ผู้ที่เคารพครูบาอาจารย์ ย่อมมีความดี เปรียบได้กับเทวดาส่วนครูอาจารย์ ที่ให้ความรู้ในทางธรรมนั้น เปรียบได้กับพระอินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเทวดาแต่ไม่ใช่สูงกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ข้อความต่อไป มีว่า บุคคลซึ่งพึงเป็นที่เคารพบูชานั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูตผู้อันเตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใสในอันเตวาสิกนั้น ย่อมชี้แจงธรรม ให้แจ่มแจ้ง

นี่ต้องเป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งผู้ชี้แจงแสดงธรรม และผู้รับฟังธรรมผู้ที่ได้รับการนอบน้อมในฐานะครูอาจารย์ก็ต้องมีจิตเลื่อมใส ในศรัทธาของผู้รับฟังธรรมด้วยพร้อมทั้งอนุเคราะห์ ชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง แก่ผู้รับฟังธรรมด้วย

ข้อความต่อไป มีว่า บุรุษ ผู้มีปัญญา ไม่ประมาท คบบุคคล ผู้เป็นพหูสูต เช่นนั้นกระทำธรรมนั้น ให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมเป็นผู้แจ่มแจ้งแสดงธรรม และ เป็นผู้ละเอียด

พยัญชนะในพระไตรปิฎกละเอียดมาก เมื่อแสดงธรรมข้อใดก็ควรแสดงอรรถพยัญชนะ ให้สมบูรณ์ ในข้อความนั้นแม้แต่ผู้ที่มีปัญญา ก็ไม่ประมาท เมื่อคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น

ก็ต้องกระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ และการที่จะกระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ก็คือ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้งเพื่อแสดงธรรมแก่บุคคลอื่น และต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

บุคคลผู้เป็นครู อาจารย์เมื่อรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ก็ไม่พึงเป็นผู้ไม่แสดงธรรมนั้นแก่ผู้อื่น...แต่ควรที่จะแสดงธรรมที่ได้ศึกษา ได้ใคร่ครวญ ได้พิจารณา ได้เข้าใจแล้วนั้นต่อๆ ไป ด้วยความเป็นผู้ละเอียด

อย่าเป็นผู้ที่ฟังเผินๆ หรือว่าจับข้อความจากธรรมเพียงเผินๆ โดยไม่ใคร่ควรญ พิจารณาธรรม ให้รอบคอบก่อน แล้วแสดงธรรมแก่ผู้อื่นถ้าผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด ตามไปด้วย ก็เป็นอันตราย มากทีเดียว

ข้อความต่อไป มีว่า อันเตวาสิก ส้องเสพอาจารย์ ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคนโง่เขลาผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์ และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้ทีเดียวยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย

นี่คืออันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่า ธรรมนั้น ไม่สามารถที่จะอุปการะ ให้พ้นจากความตายคือ ให้พ้นจากการที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏะต่อไปได้ แต่ ถ้าครู อาจารย์ ผู้นั้น ไม่เป็นผู้เขลา ไม่เป็นผู้มีธรรมน้อย ก็ย่อมสามารถอุปการะ ให้อันเตวาสิก ผู้เป็นลูกศิษย์นั้น บรรลุประโยชน์ และพ้นจากความตายได้ (พ้นจากวัฏฏะ)

ข้อความต่อไป มีว่า บุคคล ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ใคร่ครวญเนื้อความ ในสำนักแห่งบุคคล ผู้เป็นพหูสูตทั้งหลายไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร เหมือนคนข้ามกระแสน้ำ ที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชี่ยวถูกน้ำพัดลอยไป ตามกระแสน้ำ จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉันนั้น

ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้นเป็นผู้ฉลาดมีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้มีจำนวนมากในเรือนั้นให้ข้ามฝั่งได้ แม้ฉันใดผู้ใดไปด้วยมรรคญาณทั้ง ๔ อบรม เป็นพหูสูต ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดาผู้นั้นแล รู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่น ผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรม อันเป็นอุปนิสัย ให้เพ่งพินิจได้ ก็ฉันนั้น

เพราะเหตุนั้นแล บุคคลพึงคบสัตบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูตบุคคล ผู้คบบุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความนั้นแล้ว ปฏิบัติอยู่รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข

ข้อความนี้ เตือนใจให้ท่านพิจารณาและใคร่ครวญในพระธรรม เพราะอุปมา เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชี่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ ย่อมไม่สามารถช่วยผู้อื่นข้ามได้แต่ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นย่อมรู้อุบายในเรือนั้น

ถึงแม้จะฟังว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น จะต้องเจริญสติปัฏฐานจึงต้องเป็นผู้อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรองมรรค ๘ นั้น ให้ถูกต้อง ด้วยความแยบคายคือ ด้วยความสมบูรณ์พร้อม ด้วยเหตุและผลก็เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่รู้อุบายในเรือ คือ มีเรือจริง มีของหลายอย่างในเรือแต่ไม่ทราบว่า ของนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์อะไรก็ไม่สามารถใช้เรือนั้น ให้เป็นประโยชน์ได้ ฉันใด

ในเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการศึกษา ให้เข้าใจในเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ไม่ให้คลาดเคลื่อน ไขว้เขว แล้วจึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้อุบายในเรือนั้นและสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเรือนั้น เพื่อพาไปให้ถึงฝั่งได้

ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะฟังธรรมจากใคร ก็ควรที่จะได้มีการพิจารณาใคร่ครวญ สอบทานกับพระธรรมวินัย จนกระทั่งได้เหตุผลที่สมบูรณ์ ไม่ว่าท่านข้องใจเรื่องอะไร ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็มีข้อความอธิบายไว้แล้ว อย่างละเอียด

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจธรรมแล้ว จะไม่เห็นว่า ตนเองนั้นสำคัญแต่สิ่งที่สำคัญ คือ พระรัตนตรัยท่านเหล่านั้น จะไม่คิดว่า ตนเองเป็นใหญ่ไม่คิดว่าจะให้ใครๆ มากราบไหว้นับถือ เป็นครูบาอาจารย์ไม่คิดว่า เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องมีศิษย์ หรือมีผู้มาฟังธรรม เป็นจำนวนมากๆ ท่านเหล่านั้น จะไม่คิดถึงตัวท่านเลย แต่จะคิดถึง พระธรรมวินัย และคิดถึง พระรัตนตรัย เป็นใหญ่

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 13 ม.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
DEEPKUNG
วันที่ 13 ม.ค. 2552

เนื่องในโอกาส ครบรอบวัน เกิดอาจารย์ ผมคิดว่า อาจารย์สุจินต์ น่าเคารพ เป็น อย่างยิ่ง ทั้งใน ฐานะ ครู ของศิษย์ ผู้ใหญ่ในสังคม ผู้มีความคิด ก้าวหน้า ครับ

กราบเท้าอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Komsan
วันที่ 13 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 13 ม.ค. 2552

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจธรรมแล้ว จะไม่เห็นว่า ตนเองนั้นสำคัญแต่สิ่งที่สำคัญ คือ พระรัตนตรัยท่านเหล่านั้น จะไม่คิดว่า ตนเองเป็นใหญ่ไม่คิดว่าจะให้ใครๆ มากราบไหว้นับถือ เป็นครูบาอาจารย์ไม่คิดว่า เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องมีศิษย์ หรือมีผู้มาฟังธรรม เป็นจำนวนมากๆ ท่านเหล่านั้น จะไม่คิดถึงตัวท่านเลย แต่จะคิดถึง พระธรรมวินัย และคิดถึง พระรัตนตรัย เป็นใหญ่.

น้อมกราบขอบพระคุณและกราบขออนุโมทนา

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ด้วยความเคารพยิ่ง

๐ ๐ ๐

ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 13 ม.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 15 ม.ค. 2552

อาจารย์เหนืออาจารย์ใดๆ ในโลก ก็คือ พระพุทธเจ้า

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ป้าจาย
วันที่ 15 ม.ค. 2552
รองจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านอาจารย์สุจินต์ คือ ครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด

กราบอนุโมทนาท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 ม.ค. 2552

ในวันครู...ขอกราบบูชาพระคุณ..ครูทุกๆ ท่านคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 18 มิ.ย. 2552

ขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ปริศนา
วันที่ 18 มิ.ย. 2552
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 18 มิ.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะมีความนอบน้อมเคารพ ในครูอาจารย์หรือ ผู้ที่ให้ความเข้าใจเรื่องพระธรรมนั้น ก็ต้องกระทำ ในฐานะที่สมควรด้วย

เพราะเหตุว่า ในบางครั้ง ท่านผู้นั้นเคารพครูอาจารย์ จนเกินพระรัตนตรัย ต้องขออภัยที่ใช้คำนี้เพราะเหตุว่า บางท่าน ไม่สนใจที่จะสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยแล้วแต่ว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ท่านนั้น จะกล่าวว่าอย่างไรก็พอใจในเหตุผล ของครูอาจารย์นั้น โดยไม่เทียบเคียงเหตุผล ไม่สอบทานกับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
[เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔
-หน้าที่ 445

"บุคคลพึงรู้แจ้งธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากอาจารย์ใด พึงนอบน้อมอาจารย์นั้น โดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นอบน้อมการบูชาเพลิงอยู่ฉะนั้น"

ขอนบน้อมแด่พระรัตนตรัยและท่านอาจารย์สุจินต์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ