สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ
... สมถภาวนา ...
สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว
เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิต เป็น มิจฉาสมาธิ
เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิต เป็น สัมมาสมาธิ
การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญาก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต เพราะโลภมูลจิตและกามาวจรกุศลจิต มีเวทนาประเภทเดียวกันเกิดร่วมกันด้วย คือ ...
โลภมูลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง
กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง
ฉะนั้น ขณะใดที่อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นหรือโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น จึงยากที่จะรู้ว่าจิตที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน หรือขณะที่โสมนัสยินดี เป็นสุขนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือ เป็นมหากุศลจิต
ความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ดวง และ มหากุศลจิต ๘ ดวง คือ โลภมูลจิตมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย มหากุศลจิตมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลเจตสิกที่แสดงความต่างกันของโลภมูลจิต และ มหากุศลจิตคือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด และ โสภณเจตสิกที่แสดงความต่างกันของกุศลจิตและโลภมูลจิต คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก
ฉะนั้น ความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ดวง และมหากุศล ๘ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ๔ ดวง มหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง
ฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนา จึงต้องรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต มิฉะนั้น ก็จะทำสมาธิด้วยโลภมูลจิต เป็นมิจฉาสมาธิ เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป