จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร

 
opanayigo
วันที่  16 ม.ค. 2552
หมายเลข  10927
อ่าน  2,567

ในอัฎฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายจิตตนิทเทส มีข้อความว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร

ธาตุรู้มีมากไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ความวิจิตรของจิตปรากฎเมื่อคิดนึกเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ว่าใครจะทำอะไรในวันหนึ่งๆ นั้น เมื่อพิจารณาแล้วย่อมรู้ว่าเป็นไปปตามความวิจิตรของจิตทั้งสิ้น

วันนี้ทำอะไรมาบ้างแล้ว และต่อไปเย็นนี้ พรุ่งนี้จะทำอะไร ถ้าไม่มีจิตก็ทำไม่ได้ เหตุที่ทุกคนมีการกระทำในวันหนึ่งๆ ต่างๆ กันตามวิถีชีวิตของแต่ละคนนั้น จะเห็นได้ว่าการกระทำทั้งหมดย่อมเป็นไปตามความวิจิตรของจิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทั้งทางกาย ทางวาจาต่างๆ กันในชีวิตประจำวัน จิตเป็นธรรมชาติที่คิด ซึ่งคิดมากเหลือเกิน แต่ละคนก็คิดต่างๆ กันไป ในบรรดาผู้ที่สนใจศึกษาธรรมก็พิจารณาธรรมต่างๆ กัน ความคิดเห็นในขั้นของการประพฤติปฎิบัติธรรมก็ต่างกัน และแม้แต่ในเรื่องของโลก ความเป็นไปในกลุ่มบุคคลแต่กลุ่มแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก แต่ละขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามความวิจิตรของความคิดของแต่ละบุคคล โลกยุคนี้เป็นอย่างนี้ ตามความคิดของแต่ละบุคคลในยุคนี้ สมัยนี้ แล้วต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามจิตซึ่งคิดวิจิตรต่างๆ นั้นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร จิตที่เห็นทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง ต่างกับจิตที่ได้ยินทางหูซึ่งเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง และต่างกับจิตที่คิดนึก เป็นต้น

หนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก

โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 17 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนา

จิต วิจิตร ตามการสะสม ตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ที่สะสม การสะสมของจิต เพราะสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่ง ตามเหตุปัจจัย เพราะเหตุปัจจัย จึงเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ และเพราะกรรมของบุคคลต่างกัน จิต จึงวิจิตรไปตามกรรม ทุกชีวิตที่เกิดมา ... ก็มีจิตที่วิจิตร ไปตามกรรม และผลของกรรม


 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 17 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 17 ม.ค. 2552

จิตเกิดก็ต้องมีอารมณ์ จิตก็วิจิตรตามอารมณ์ จิตเกิดก็ต้องมีเจตสิก จิตก็วิจิตรตามเจตสิกที่เกิดด้วย การคิดนึกก็ด้วยจิต จิตก็วิจิตรเพราะกระทำให้วิจิตร จึงเห็นสิ่งประดิษฐ์ รังสรรค์ ก่อสร้าง แปลกๆ ใหญ่ๆ จากใต้ทะเล บนดิน จนถึงในเอวกาศ ฯลฯ เมื่อจิตวิจิตร กรรมก็ต้องวิจิตร จึงเห็นสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 18 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นนามธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสังขารธรรม
เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นเรา ในจิตแต่ละขณะๆ ไม่ได้เลย จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์แม้ว่าจะจำแนกจิตเป็นชาติต่างๆ ทั้งอกุศลชาติ กุศลชาติ วิบากชาติ และกิริยาชาติทั้งหมดทั้งปวงมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้นย่อมรู้แจ้งอารมณ์ นี้เป็นความจริงของจิต แต่จิตไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงจิตเท่านั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น จิตจึงวิจิตรคือ มากมายหรือแตกต่างกันออกไป ด้วยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งแตกต่างกันไปเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้างเป็นต้น เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้แจ้งอารมณ์ (อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้) ซึ่งรู้ได้ทีละอารมณ์ ดังนั้น จิตจึงวิจิตรแตกต่างกันออกไปโดยอารมณ์ อีกด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 18 ม.ค. 2552

ถ้าไม่มีเจตสิก จิตจะวิจิตรมั้ยค่ะ?

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 18 ม.ค. 2552

จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตรด้วยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และ จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่....

จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 ม.ค. 2552

" จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร "แต่พอเป็น "เรา" เห็น "เรา" ได้ยิน "เรา" ได้กลิ่น ... "เรา"คิดนึกก็เลยไม่เห็นถึงความวิจิตรของจิต เพราะถูกปิดบังไว้ด้วย อวิชชา / ตัณหา / ความเห็นผิดเมื่อกิเลสปกคลุมการรู้ความจริงไว้ จึงทำให้กลายเป็นผู้ที่มืดมิด แม้มีจิตก็ไม่รู้ว่าเป็นจิตและไม่เห็นถึงธรรมแต่ละประการที่เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละขณะวิจิตรแตกต่างกันออกไปที่จะเห็นความวิจิตรของจิตจริงๆ ได้ ต้องด้วยปัญญาที่รู้ชัดในความเป็นธรรมะของจิต

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornpaon
วันที่ 23 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ