ถามเรื่องการให้ทาน/ศีลหรือวินัยพระภิกษุ / การปฏิบัติธรรมและปัญญา

 
ศิณอนงค์
วันที่  19 ม.ค. 2552
หมายเลข  10937
อ่าน  1,116

ขอเรียนท่านวิทยากรดังนี้ค่ะ

1. "ให้ทานโดยเคารพ" ขอช่วยอธิบายความหมายอย่างละเอียดทีค่ะ

2. "เลือกให้" (หนึ่งในสัปปุริสทานในปฐมสัปปุริสสูตร) ขอช่วยอธิบายความหมาย อย่างละเอียดทีค่ะ

3. การให้ทาน เคยอ่านเจอว่า ควรให้ด้วยมือตนเอง เพราะอะไรคะ แล้วมีจริงในพระ- สูตรหรือเปล่าคะ หากเป็นผู้ที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ จะฝากไปแทน ถือว่า ให้ด้วยมือตนเองหรือเปล่าคะ

4. สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะ ดิฉันเข้าใจว่า "สิ่งที่มีจริง" หมายถึง ปรมัตถสัจจะและสมมติ สัจจะ ใช่หรือเปล่าคะ ส่วน "เป็นธรรมะ" หมายถึง เป็นสภาพธรรม ใช่หรือเปล่าคะ

5. "ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม" ดิฉันเข้าใจว่า สภาพธรรมปฏิบัติกิจของสภาพธรรม ตามสมควร ตามลำดับขั้น ใช่หรือเปล่าคะ

6. พระภิกษุที่กล่าวข้อธรรมผิด แต่ไม่รู้ว่าผิด และไม่มีเจตนาหลอกลวง ถือว่าเป็น มุสาวาท หรือเปล่าคะ

7. พระภิกษุที่มีแผลที่ใบหน้า พอแผลหาย ก็เกิดแผลหลุม ท่านจึงรับยาที่ออกไปใน ทางเครื่องสำอาง มาเร่งเนื้อให้กลับมาดูเรียบดังเดิม ถือว่าเป็นการประเทืองผิว หรือเปล่าคะ

8. เพราะเหตุใดเครื่องลูบไล้ โดยเฉพาะการประเทืองผิวจึงผิดพระวินัยคะ ขอเหตุผล อย่างละเอียดทีค่ะ

9. พระภิกษุที่มีญาติโยมมาหาที่วัดมาก และท่านก็ใช้งานญาติโยมที่มา รวมทั้งเรียก ญาติโยมมาช่วยงาน ผิดพระวินัยข้อใดหรือเปล่าคะ

10. การอบรมเจริญปัญญา มีทางเดียวที่จะอบรมปัญญาขึ้นมาได้ คือการศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจใช่หรือเปล่าคะ การเข้าใจพระธรรมเนืองๆ จะเป็นปัจจัยให้สติจะระลึกได้เอง โดยไม่ต้องคอยตามรู้อาการใช่หรือเปล่าคะ

ขออภัยที่ถามมากไปค่ะ ขอรบกวนทีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 19 ม.ค. 2552

๑. ในอรรถกถาแก้ไว้ว่า ให้โดยใจที่สะอาดบริสุทธิ์ คือตั้งใจให้ทานจริงๆ ไม่ใช่ให้แบบเสียไม่ได้ โยนให้ สาดทิ้งให้ แม้ของที่ให้ก็เลือกของดีและประณีต เคารพในผู้รับทาน ไม่ดูถูกดูหมิ่น เป็นต้น

๒. ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ว่า เลือกผู้รับทาน คือเลือกผู้ที่มีคุณธรรม มีศีล เป็นต้น ดังข้อความว่า บทว่า วิเจยฺย เทติ ความว่า เลือกปฏิคคาหก หรือทานโดยตั้งใจให้อย่างนี้ว่าทานที่ให้แล้วแก่ผู้นี้ จักมีผลมาก ที่ให้แก่ผู้นี้ไม่มีผลมากดังนี้แล้วให้.

๓. ถ้าเห็นประโยชน์ของทานกุศล ย่อมมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะให้ แล้วให้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ฝากเขาไปให้ ทั้งที่ตนเองสามารถให้ด้วยตนเองได้ แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ จะฝากให้ผู้อื่นให้แทน สภาพของจิตย่อมต่างกับให้ด้วยตนเอง เหมือพระเจ้าปายาสิสั่งลูกน้องให้ทานแทน ตนเองไม่ได้ให้เอง อย่างนี้ชื่อว่า ไม่ได้ให้ด้วยมือของตน

๔. "สิ่งที่มีจริง" ท่านมุ่งหมายถึงปรมัตถสัจจะ เพราะมีลักษณะ สภาวะจริงๆ และที่ว่า"เป็นธรรมะ" หมายถึง เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คนสัตว์สิ่งของ

๕. ถูกครับ ปฏิบัติธรรมตามลำดับขั้นตามสมควรแก่โลกุตตระ

๖. ถ้าไม่มีเจตนาที่จะกล่าวเท็จ คำนั้นไม่ใช่มุสาวาท

๗. เข้าข่าย ประดับตกแต่งครับ

๘. เพราะไม่สมควรแก่สมณะเพศ

๙. ไม่ผิดครับ ทรงอนุญาตให้ขอแรงงานได้

๑๐. ถูกครับ เพราะคำว่า"ศึกษา"ก็กว้างมาก รวมถึงการพิจารณาใส่ใจด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 19 ม.ค. 2552

1. ให้ทานโดยเคารพ เช่น ให้ของทีสะอาด มีรสอร่อย ให้กับมือ ให้ด้วยจิตอ่อนโยน

2. เลือกให้ ให้กับพระพุทธเจ้า หรือสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ให้กับผู้ประพฤติธรรม

3. ให้ทานด้วยมือตนเอง จิตเป็นกุศลมีกำลังมากกว่าค่ะ

4. ปรมัตถธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อค่ะ

5. ปฏิบัติธรรมสมแก่ธรรมสูงสุดคือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ค่ะ

6. อยู่ที่เจตนาขณะที่กล่าวค่ะ

7. ภิกษุที่ประดับตกแต่งต้องอาบัติค่ะ

8. เพราะเพศบรรชิตเป็นเพศที่สูง ที่ต้องขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าฆราวาสค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ศิณอนงค์
วันที่ 20 ม.ค. 2552
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ