ประกอบอาชีพสุจริตต่อไปนี้เป็นบาปไหมครับ
ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และปลา เพื่อขาย ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพสุจริตเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและส่งลูกๆ ได้เรียนหนังสือ และส่วนหนึ่งแบ่งทำบุญทำกุศล การทำอาชีพอย่างนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาต้องนำไปฆ่าแน่นอน แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นอาชีพที่สุจริตและถนัดและเราไม่ได้เป็นคนฆ่าเป็นเพียงผู้เลี้ยงขายเท่านั้น จะไปทำมาหากินอย่างอื่นก็ทำไม่เป็น จึงอยากกราบเรียนถามท่านผู้รู้ได้เมตตาให้คำตอบด้วยว่า การทำอาชีพดังกล่าวจะเป็นบาปไหม อย่างไร
กราบขอบพระคุณล่วงหน้ามากๆ ครับ
ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายให้อบรมเจริญกุศลทุกระดับขั้น แม้เรื่องของการอาชีพก็เช่นกัน ถ้าหากเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยการค้าขายชีวิตผู้อื่น จะทำให้ใจเราเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส จริงอยู่เราเลี้ยงสัตว์เพื่อขายเพื่อให้เขานำเป็นอาหารเราไม่ได้ฆ่าเองก็จริง แต่เป็นอาชีพที่อุบาสกอุบาสิกาผู้หวังความเจริญในศาสนานี้ ไม่ควรทำ จริงแล้วอาชีพอย่างอื่นที่พอจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็มีมากและไม่ทำให้เดือดร้อนใจในภายหลังด้วย ผมคิดว่าเพื่อประโยชน์และความสุขในภายหน้าควรประกอบอาชีพอื่นจะดีกว่า ถึงแม้ทางโลกจะพูดว่าเป็นอาชีพสุจริตก็ตาม แต่ทางธรรมโดยละเอียดแล้วเป็นอาชีพที่ไม่ควรทำครับ
ขอเชิญคลิกอ่าน ..
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของคฤหัสถ์มีความจำเป็นที่จะต้องประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตไม่ให้ลำบาก ไม่ให้เดือดร้อน แต่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า คำว่า อาชีพที่สุจริต บางอาชีพที่เข้าใจกันในสังคมไทย ยังไม่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะอาชีพที่สุจริตจริงๆ จะต้องไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นหรือผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนลำบากเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว ผู้ที่ประกอบอาชีพ จะต้องเป็นผู้งดเว้นจากกายทุจริต (งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม) และงดเว้นจากวจีทุจริต (งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด และงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) ที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพด้วย จึงเป็นเรื่องที่ละเอียด สำหรับการประกอบอาชีพของแต่ละบุคคลนั้น ก็แตกต่างกันออกไป ถ้าหากว่าได้ศึกษาพระธรรม ได้ฟังพระธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จิตใจก็จะน้อมไปในกุศลธรรมมากยิ่งขึ้นและจะทำให้ค่อยๆ ละอาชีพที่ไม่ถูกต้อง ได้ในที่สุด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การที่แต่ละคนจะทำอาชีพอะไรก็ตาม เป็นเพราะได้สั่งสมกรรมและเหตุปัจจัยมาแล้ว จึงต้องมีเหตุให้ต้องทำอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้ ก็มีหน ทางเดียวคือฟังธรรมและเจริญกุศลทุกอย่างโดยเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐานค่ะ
สัมมาอาชีวะ ต้องประกอบด้วยกุศลจิตเท่านั้นค่ะ อาชีพที่ดิฉันประกอบอยู่ ก็ไม่เรียกว่าสัมมาอาชีวะ แต่ก็ไม่ใช่อาชีพที่พระพุทธองค์ทรงห้าม สัมมาอาชีวะ ก็เป็น 1 ในมรรคทั้ง 8 ซึ่งการรู้แจ้งในมรรคทั้งหมดนี้ ยากมากๆ เลยค่ะ แต่ถ้าอะไรที่เราเห็นชัดว่าไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่ทำ ถ้าถือพระธรรมเป็นสรณะ อาชีพหรือวิทยาการใดๆ อาจมีความจำเป็นตามอัตภาพนี้ แต่ชาติหน้าก็จะต้องเริ่มต้นใหม่จากอักษร ก.ไก่ หรือไม่ก็ไม่รู้ภาษาคนอีกเลย แต่ปัญญาจากการเข้าใจพระธรรมจะไม่ถอยหลังมีแต่จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ เป็นอริยทรัพย์ในสมัยพุทธกาล มีผู้คุณธรรมสูงหลายท่าน ที่ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมนั้นๆ เมื่อมีปัญญาที่ได้จากการฟังพระธรรมจนเข้าใจ แม้ช่วงใดจะขาดทรัพย์ ก็ยังอยู่ได้ด้วยปัญญาค่ะ
สัตว์ทั้งหลายต่างรักสุข เกลียดทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ดังนั้น เราจึงควรละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน
แต่ด้วยความไม่รู้และความรักตัวเอง อยากให้ตัวเองได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา จึงทำให้โลกนี้ยังเต็มไปด้วยการเบียดเบียนกันและกัน รวมทั้งการเบียดเบียนตัวเองให้เดือดร้อนโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
ดังนั้น เราจึงควรศึกษาให้รู้ว่ากิจใดควรทำ ไม่มีโทษ ไม่ใช่การเบียดเบียน และกิจใดไม่ควรทำ มีโทษ และเป็นการเบียดเบียน และที่สำคัญคือศึกษาให้เข้าใจความจริงของชีวิตว่าที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสิ่งต่างๆ นั้น ที่แท้จริงแล้วคืออะไร ความรู้ ความเข้าใจนี้จะช่วยให้ลดความรักตัวเอง ลดความยืดถือในความเป็นตน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการทำอกุศลทั้งหลายครับ
ข้าพเจ้าขออนุญาตเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งคือ มีคนป่วยที่เป็นโรคเรื้อน เขาไม่รู้สึกเจ็บเพราะเขาไม่มีประสาทรับความเจ็บปวดที่ขา ตรงที่เป็นโรคเรื้อนวันหนึ่ง ขาของเขาไปทับก้อนถ่านร้อน จนเนื้อที่ขาทะลุ ก้อนถ่านจมลงไปในเนื้อนั้นโดยที่เขาไม่รู้สึกเจ็บ มารู้ตัวว่าขาทับก้อนถ่าน ก็ตอนที่ได้กลิ่นเนื้อไหม้จึงได้รู้ว่า ความร้อนจากก้อนถ่านได้ทำลายเนื้อเยื่อไปมาก จนเกือบทะลุแล้ว หากจะเปรียบเทียบกับการทำบาป คือ อกุศลกรรม
เปรียบเหมือน คนที่จับถ่านไฟร้อน ถ้าไม่รู้ว่าร้อน ก็จับอย่างเต็มไม้เต็มมือ แม้จะถูกความร้อนลวกจนมือทะลุ ก็ยังไม่รู้สึกว่าเจ็บและยังไม่คิดที่จะปล่อยถ่านไฟร้อน เพราะไม่รู้ว่าถ่านไฟร้อนและกำลังทำลายมือตนเอง ฉันใดผู้ทำบาป ทำอกุศลกรรม ด้วยความไม่รู้ ก็ฉันนั้น.
ในทางตรงกันข้าม คนที่รู้ว่าถ่านไฟร้อน เวลาจะจับ ก็จับแบบไม่เต็มไม้เต็มมือ เพราะรู้สึกได้ถึงความร้อน ของก้อนถ่านไฟนั้นคนนั้นย่อมไม่พอใจที่จะจับอีกต่อไป แม้ยังต้องจับอยู่ ก็ย่อมเพียรที่จะหลีกเลี่ยงก้อนถ่านนั้นด้วยรู้ว่า ถ่านไฟนั้นร้อน และมีอำนาจทำลายสูง
ถ้าเห็นโทษจริงๆ ย่อมรังเกียจบาปที่ทำอยู่นั้น และพยายามหลีกเลี่ยงให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้