สรงน้ำพระ

 
สารธรรม
วันที่  21 ม.ค. 2552
หมายเลข  10950
อ่าน  2,394

(สุวรรณเจดีย์จังโกฏ ณ วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน)

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๕๙

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

สรงน้ำพระ

นที่นี้ มีพยัญชนะหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า "อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจะสรงน้ำภิกษุรูปนี้" แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงกระทำกิจ คือ สรงน้ำภิกษุผู้อาพาธ ก็คงจะมีหลายท่านรู้สึกว่า "การสรงน้ำพระ" ก็คงจะได้บุญได้กุศลมากทีเดียว ก็คงจะเป็นธรรมเนียมของการสรงน้ำพระในวันปีใหม่บ้าง หรือว่าในโอกาสที่ท่านคิดว่าท่านต้องการบำเพ็ญบุญกุศล แต่พระที่ท่านนิมนต์ไปท่านก็สบายดี ไม่ได้อาพาธอะไร และการไปสรง ก็ไปสรงเพื่อเป็นบุญเป็นกุศลของตัวท่าน ที่ต้องการบุญกุศลในขณะนั้น แต่ท่านไม่คิดถึงพระภิกษุผู้อาพาธ ซึ่งต้องการผู้ปฏิบัติ ผู้พยาบาล และการสรงน้ำให้แก่ภิกษุผู้ที่อาพาธนั้น ก็เป็นบุญกุศลจริงๆ เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ที่ทำความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่กำลังได้รับทุกขเวทนาอาพาธเพราะความ (ป่วย) ไข้ ถ้าจะสรงน้ำ หรือจะปฏิบัติ หรืออุปัฏฐากพระภิกษุที่กำลังอาพาธ เพื่อให้ความสะดวกสบายอย่างนั้น ก็พร้อมทั้งเหตุผล ไม่ใช่ (ว่า) ท่านต้องการบุญกุศล ท่านก็นิมนต์ (พระ) ท่านที่สบายดีทุกประการ แล้วมาสรงน้ำเป็นธรรมเนียมให้ท่านเปียก เพื่อที่ท่านจะ (ทำ) ให้ท่าน (ได้รับ) บุญกุศล แต่ว่าบุญกุศลที่จะได้ในฐานะของพุทธศาสนิกชนก็มีกุศลที่จะได้ในฐานะของพุทธศาสนิกชน และก็ท่านที่เป็นอุบาสกที่ต้องการกุศล ก็มีโอกาสที่จะเจริญกุศลได้หลายประการ รวมทั้งคิดถึงการปฏิบัติแก่ภิกษุผู้อาพาธด้วย

(พระพุทธรูปในพระวิหารของวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน)

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระเถระ ชื่อว่า ปูติคัตตติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อจิรํ วตยํ กาโย" เป็นต้น.

พระเถระกายเน่า

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังธรรมกถาในสำนักของพระศาสดา ถวายชีวิตในพระศาสนา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ชื่อว่า พระติสสเถระ. เมื่อกาลล่วงไปๆ โรคเกิดขึ้นในสรีระของท่าน. ต่อมทั้งหลาย ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดผุดขึ้น. มัน (โตขึ้น) โดยลำดับประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ประมาณเท่าเมล็ดถั่วดำ ประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ประมาณเท่าผลมะขามป้อม ประมาณเท่าผลมะตูม แตกแล้ว. สรีระทั้งสิ้น ได้เป็นช่องเล็กช่องน้อย

ชื่อของท่านเกิดขึ้นแล้วว่า พระปูติคัตตติสสเถระ (พระติสสเถระผู้มีกายเน่า) . ต่อมา ในกาลเป็นส่วนอื่น กระดูกของท่าน แตกแล้ว. ท่านได้เป็นผู้ที่ใครๆ ปฏิบัติไม่ได้. ผ้านุ่งและผ้าห่มเปื้อนด้วยหนองและเลือด ได้เป็นเช่นกับขนมร่างแห. พวกภิกษุมีสัทธิวิหาริกเป็นต้นไม่อาจจะปฏิบัติได้ (จึงพากัน) ทอดทิ้งแล้ว. ท่านเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งนอน (แซ่ว) แล้ว.

พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลและทรงแสดงธรรม

ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงละการตรวจดูโลกสิ้น ๒ วาระ (คือ) ในกาลใกล้รุ่ง เมื่อทรงตรวจดูโลก ทรงตรวจดูจำเดิมแต่ขอบปากแห่งจักรวาล ทำพระญาณให้มุ่งต่อพระคันธกุฎี. เมื่อทรงตรวจดูเวลาเย็น ทรงตรวจดูจำเดิมแต่พระคันธกุฎี ทำพระญาณให้มุ่งต่อที่ (ออกไป) ภายนอก. ก็ในสมัยนั้น พระปูติคัตตติสสเถระ ปรากฏแล้วภายในข่ายคือพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของติสสภิกษุ ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ถูกพวกสัทธิวิหาริก เป็นต้น ทอดทิ้งแล้ว, บัดนี้ เธอยกเว้นเราเสีย ก็ไม่มีที่พึ่งอื่น" ดังนี้แล้ว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เหมือนเสด็จเที่ยวจาริกในวิหาร เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงล้างหม้อ ใส่น้ำ ยกตั้งบนเตา เมื่อทรงรอให้น้ำร้อน ได้ประทับยืนในโรงไฟนั่นเอง: ทรงรู้ความที่น้ำร้อนแล้ว เสด็จไปจับปลายเตียงที่ติสสภิกษุนอน. ในกาลนั้น พวกภิกษุ กราบทูลว่า "ขอพระองค์ จงเสด็จหลีกไป พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์จักยก (เอง) แล้ว (ช่วยกัน) ยกเตียง นำไปสู่โรงไฟ. พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อน (ใส่) แล้ว ทรงสั่งภิกษุเหล่านั้นให้ (เปลื้อง) เอาผ้าห่มของเธอ ให้ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดด

ลำดับนั้น พระศาสดา ประทับยืนอยู่ในที่ใกล้ของเธอ ทรงรดสรีระนั้นให้ชุ่มด้วยน้ำอุ่น ทรงถูสรีระของเธอ ให้เธออาบแล้ว. ในที่สุดแห่งการอาบของเธอ, ผ้าห่มนั้นแห้งแล้ว. ทีนั้น พระศาสดาทรงช่วยเธอให้นุ่งผ้าห่มนั้น ทรงให้ขยำผ้ากาสาวะที่เธอนุ่งด้วยน้ำ แล้วให้ผึ่งแดด. ทีนั้น เมื่อน้ำที่กายของเธอพอขาด (คือแห้ง) ผ้านุ่งนั้นก็แห้ง. เธอนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง เป็นผู้มีสรีระเบา มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นอนบนเตียงแล้ว.

พระศาสดาประทับยืน ณ ที่เหนือศีรษะของเธอ ตรัสว่า "ภิกษุ กายของเธอนี้ มีวิญญาณไปปราศแล้ว หาอุปการะมิได้ จักนอนบนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

๗. อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงคฺรํ.

"ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน. กายนี้มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว, ราวกับท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น."

(ข้อความบางตอนจาก)

๗. เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ [๓๐]

[เล่มที่ 40] ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 435

คลิกเพื่อชมและอ่าน

พระมหากรุณาคุณ

(ดอกบัวบานที่บ้านธัมมะ)

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความจากพระวินัยปิฎก

สรงน้ำพระ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ฯ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 21 ม.ค. 2552

สาธุ

ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสละนิพพานสุข อันมีในที่ใกล้พระหัตถ์ เมื่อครั้งยังเป็นพระสุเมธโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันกระทำได้ยาก ทรงยอมเวียนว่ายในสังสารวัฎฎ์ ตลอดกาลนาน แสนนาน เพียงเพื่อช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุธรรมพ้นจากทุกข์.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ศิณอนงค์
วันที่ 22 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dhammafellow
วันที่ 23 ม.ค. 2552
อนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 24 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญอ่าน ...

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ - บรรลุพระอรหัต

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ - พระศาสดาทรงสรงน้ำติสสภิกษุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ