มรรค ๔ ประการ เป็นไฉน ?

 
พุทธรักษา
วันที่  23 ม.ค. 2552
หมายเลข  10975
อ่าน  1,586

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

แนวทางเจริญวิปัสสนาโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรค ยุคนัทธสูตร ข้อ ๑๗๐

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆษิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านเรียกพระภิกษุทั้งหลาย แล้ว กล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุ หรือ ภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์ การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดา มรรค ๔ ประการนี้

มรรค ๔ ประการ เป็นไฉน

ประการที่ ๑ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนา มีสมถะ เป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด.

ประการที่ ๑ โดยมาก มักจะเข้าใจกันว่าสมถะนั้น จะต้องถึงฌานจิต แต่ว่าความหมาย ตามปกตินั้น คือ ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นก็สงบผู้ที่อบรมปัญญา รู้ลักษณะ ของนามและรูป จะรู้ได้ว่าขณะใดสงบขณะใดที่สติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ก็อาจจะสงบมากขึ้น โดยสภาพที่เป็นอนัตตาไม่ใช่ด้วยความจงใจ หรือต้องการที่จะให้สงบ ฉะนั้น ผู้นั้นก็มี สมถะ เป็นเบื้องหน้า นี้เป็นประการ ๑

อีกประการหนึ่ง (คือ ประการที่ ๒) ภิกษุย่อม เจริญสมถะ มีวิปัสสนา เป็นเบื้องหน้ามรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากขึ้น ในมรรคนั้นย่อมละสังโยขน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด.

ประการที่ ๒ บางท่าน กำลังโกรธ สติไม่เกิดเลยเพราะกิเลส มีกำลังในขณะนั้น ถ้ากิเลส มีกำลังมากก็อาจจะเป็นเหตุให้กาย วาจา ไหวไป ในทางที่ไม่ควรเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างขณะนั้น หลงลืมสติ คือ ไม่ระลึกรู้ ลักษณะของนามและรูปแต่ว่ากุศลอื่นๆ ก็อาจจะเกิดได้ เช่น ระลึกได้ ถึงการที่ควรจะมีเมตตาขณะนั้น ไม่ได้มีใครสั่งให้มีเมตตา และถึงจะสั่งอย่างไร ก็ทำไม่ได้ ถ้าขณะนั้น สภาพธรรมเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น แต่การที่เคยได้ฟังพระธรรม จึงมีอุบายคือ นัยที่จะทำให้ความรู้สึกหรือกิเลสนั้นๆ เบาบางหรือระงับไปเป็นเหตุให้จิตใจสงบขึ้น และเมื่อจิตใจสงบขึ้นแล้วก็พิจารณา ลักษณะของนามและรูป ที่ปรากฏได้ฉะนั้น สำหรับท่านเหล่านั้น ย่อมเจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า คือ เมื่อจิตใจสงบแล้ว จึงระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ อย่าไปบังคับ หรืออย่าไปตั้งกฏเกณฑ์

ถ้าขณะนั้น กำลังศึกษา ฟัง หรือ อ่านพระธรรม จิตใจในขณะนั้นสงบ เมื่อสงบแล้ว สติก็เกิดขึ้นพิจารณาลักษณะ ที่เป็นนามและรูป ตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีตัวตนไปบังคับ แต่เพราะสะสมมาอย่างนั้น อีกประการหนึ่ง (คือ ประการที่ ๓) ภิกษุย่อม เจริญสมถะ และวิปัสสนา ควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมกระทำให้มากขึ้น ซึ่งมรรคนั้นย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด

ประการที่ ๓ ที่ว่า ภิกษุเจริญสมถะ และวิปัสสนา ควบคู่กันไป หมายถึง ท่านที่เคยเจริญสมถภาวนามาก่อนแล้วเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา และเข้าใจเรื่องอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านมีอุปนิสัย มีความเคยชินในการเจริญสมถภาวนา จนจิตสงบ ซึ่งเป็นปกติ ในชีวิตของท่าน ฉะนั้น เมื่อใดที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของจิตรู้ลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรม ที่ปรากฏในขณะที่กำลังสงบนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญสมถะ และวิปัสสนา ควบคู่กันไป

อีกประการหนึ่ง (คือ ประการที่ ๔) ใจของภิกษุ ปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบในภายในเมื่อใจของภิกษุ ปราศจากอุทธัจจะในธรรม จิตตั้งมั่นแล้วมรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด

ประการที่ ๔ ใจของภิกษุ ปราศจากอุทธัจจะในธรรม หมายถึง ปราศจากความฟุ้งซ่าน สมัยนั้น จิตย่อมตั้งมั่น สงบภายในคือ ขณะที่พิจารณาฌานจิต หรือ จิตที่สงบ ถึงขั้นนั้นๆ แล้ว จิตย่อมตั้งมั่น สงบภายในมรรคย่อมเกิด อนุสัยย่อมสิ้นสุด แต่จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เจริญฌานนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผล ได้ฌานจริง จิตตั้งมั่นจริง แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่พอ ถ้าปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูป ไม่พอที่จะละคลายความยึดถือสภาพของนามและรูปเหล่านี้ ว่าเป็นตัวตน ถึงแม้ได้ฌาน ก็ไม่บรรลุมรรคผล

ท่านพระอานนท์ กล่าวว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุ หรือ ภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์ การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง

นี่เป็นความสอดคล้องของพระธรรมวินัย ที่ว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงวางกฏเกณฑ์ ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยทรงแสดงธรรมเพื่ออุปการะให้สติเกิดบ่อยๆ เพื่อให้รู้ธรรมทั่วขึ้น

ทรงแสดงเรื่องความสงบของจิต ขั้นสมาธิเพราะว่า สำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว เมื่อมีเวลาว่าง จิตย่อมเป็นไปในทางเจริญความสงบ และเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่าแม้ขณะที่จิตสงบนั้น ก็เป็นเพียง นามธรรม ชนิดหนึ่ง

ฉะนั้น ไม่ใช่โคนไม้ ตลอดเวลา ไม่ใช่เรือนว่าง ตลอดเวลาต้องทำกิจอื่น ซึ่งเป็นไป ตามปกติ ในชีวิตประจำวันด้วย และเพื่อให้รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ว่า แม้ขณะที่กำลังทำกิจอื่น ตามพระวินัยบัญญัตินั้น ก็เป็นเพียง นามและรูป เท่านั้น

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์




  ความคิดเห็นที่ 1  
 
opanayigo
วันที่ 25 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
narong.p
วันที่ 25 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 26 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 26 ม.ค. 2552
สาธุ ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 21 มิ.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ