อานาปานสติ - ภูมิแห่งมนสิการของมหาบุรุษ [2]

 
JANYAPINPARD
วันที่  27 ม.ค. 2552
หมายเลข  10990
อ่าน  1,817

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ หน้าที่ ๑๘๗

อนึ่ง อานาปานสติกรรมฐานนี้ เป็นการเจริญอย่างหนักๆ เป็นภูมิแห่งมนสิการของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธบุตรผู้เป็นมหาบุรุษนั่นเอง มิได้เป็นนอกไปจากนี้ ทั้งสัตว์นอกนี้มิได้เสพ.

กรรมฐานเป็นอันสงบและสุขุม โดยประการที่ทำไว้ในใจ เพราะฉะนั้น ในที่นี้พึงปรารถนาสติและปัญญามีกำลัง. เหมือนอย่างว่า ในเวลาเย็บผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง พึงต้องการแม้เข็มที่ละเอียด แม้ด้ายร้อยเข็มก็ยังต้องการละเอียดกว่านั้น ฉันใด ในเวลาเจริญกรรมฐานนี้เช่นกับผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง ฉันนั้นเหมือนกัน แม้สติเปรียบด้วยเข็ม ปัญญาสัมปยุตด้วยสตินั้นเปรียบด้วยการร้อยเข็ม ก็พึงปรารถนาที่มีกำลัง.ก็แลภิกษุผู้ประกอบด้วยสติปัญญาเหล่านั้น ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านั้น นอกจากโอกาสที่สัมผัสตามปกติ.

เหมือนอย่างว่า ชาวนาไถนาแล้วปล่อยโคผู้ไป แล้วนั่งพักบริโภคอาหาร. ลำดับนั้น โคผู้เหล่านั้นของเขาวิ่งเข้าดงไป. ชาวนาที่เป็นคนฉลาดประสงค์จะจับโคเหล่านั้นเทียมไถ ไปเที่ยวตามรอยเท้าของโคเหล่านั้นไปยังดง. เขาถือเชือกและปฏักไปยังท่าน้ำที่โคเหล่านั้นลงโดยตรง นั่งบ้าง นอนบ้าง. ครั้นเขาเห็นโคเหล่านั้นเที่ยวไปตลอดวันแล้ว ลงสู่ท่าที่เคยลงอาบและดื่มแล้วขึ้นยืนอยู่ จึงเอาเชือกล่ามเอาปฏักแทงนำมาเทียมไถทำงานต่อไปฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านั้น นอกจากโอกาสที่สัมผัสตามปกติ พึงถือเชือกคือ สติและปฏัก คือ ปัญญาตั้งจิตไว้ในโอกาสที่สัมผัสตามปกติ แล้วยังมนสิการให้เป็นไป. ก็เมื่อภิกษุมนสิการอย่างนี้ ไม่ช้าลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านั้นก็ปรากฏดุจโค ปรากฏที่ท่าที่เคยลงแต่นั้น ภิกษุนั้น พึงผูกด้วยเชือกคือสติประกอบไว้ในที่นั้นแล้วแทงด้วยปฏักคือ ปัญญา

พึงประกอบกรรมฐานบ่อยๆ เมื่อประกอบอย่างนี้ไม่ช้านัก นิมิตย่อมปรากฏ ก็นิมิตนี้นั้น มิได้เป็นเช่นเดียวกันแห่งนิมิตทั้งปวง. อีกอย่างหนึ่งนิมิตยังสุขสัมผัสให้เกิดขึ้นแก่ใครๆ ย่อมปรากฏ ดุจปุยนุ่น ปุยป้ายและสายลมอาจารย์บางพวกกล่าวไว้ดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ