อารมณ์ของสมภภาวนา ๔๐ ทำให้จิตสงบในระดับต่างกัน
อารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐ อารมณ์ นั้น ...
บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ไม่ถึงอุปจารสมาธิ บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ถึงอุปจารสมาธิ บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ถึงปฐมฌานเท่านั้น บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัย บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ถึงปัญจมฌาน และบางอารมณ์ก็เป็นอารมณ์เฉพาะปัญจมฌานเท่านั้น ดังนี้คือ ...
อนุสสติ ๖ ได้แก่ ...
พุทธานุสสติ ๑
ธัมมานุสสติ ๑
สังฆานุสสติ ๑
จาคานุสสติ ๑
สีลานุสสติ ๑
เทวตานุสสติ ๑
ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลระลึกถึงอนุสสติ ๖ นี้ จิตสงบได้ไม่ถึงอุปจารสมาธิ สำหรับพระอริยบุคคลนั้นอาจสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ
อนุสสติ ๒ คือ อุปสมานุสสติ การระลึกถึงพระนิพพาน และมรณานุสสติ การระลึกถึงความตายนั้น มรณานุสสติสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น แต่อุปสมานุสสติสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น
อาหาเรปฎิกูลสัญญา ๑ คือ การระลึกถึงความปฎิกูลของอาหาร จิตสงบได้ถึงอุปจารสมาธิ
จตุธาตุววัฎฐาน ๑ คือ การระลึกถึง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่กาย จิตสงบได้ถึงอุปจารสมาธิ
อสุภ ๑๐ คือ การระลึกถึงสภาพของซากศพ ๑๐ อย่าง จิตสงบได้ถึงปฐมฌาน
กายคตาสติ (อนุสสติ) ๑ คือ การระลึกถึงความไม่น่าใคร่ของส่วนต่างๆ คือ อาการ ๓๒ ของกายแต่ละส่วน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น จิตสามารถสงบได้ถึงปฐมฌาน
อานาปานสติ (อนุสสติ) ๑ การระลึกถึงลมหายใจ จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน
กสิณ ๑๐ จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน
พรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา ๑ กรุณา ๑ มุทิตา ๑ จิตสงบได้ถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัย (ตติยฌานโดยจตุกกนัย)
พรหมวิหาร ๑ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร เมื่อจิตสงบจากพรหมวิหาร ๓ ถึงจตุตถฌานแล้วจึงเจริญอุเบกขาพรหมวิหารต่อไปได้ ในบรรดาพรหมวิหาร ๔ อุเบกขาพรหมวิหารจึงเป็นอารมณ์ของเฉพาะปัญจมฌาน ฌานเดียวเท่านั้น
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป