การศึกษาพระอภิธรรม
เราควรทำอย่างไร เพื่อให้ศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจได้อย่างเป็นลำดับขั้นได้บ้างครับ ผมได้ลองอ่านพระอภิธรรมดูบ้างแล้ว (พระอภิธรรมปิฏก ธัมมะสังคณี) พบว่า อ่านไม่ เข้าใจเลย แค่เพียงหน้าแรกๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาที่ไม่คุ้นเคย หรือ ใน เนื้อหาธรรมะที่ซับซ้อนมากครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ
ในช่วงแรกเริ่มศึกษา ถ้าอ่านพระอภิธรรมปิฎกโดยตรงอาจจะยากไป ควรอ่านพระ อภิธรรมมัตถสังคหะ หรือปรมัตถธรรมสังเขปก่อน เมื่อคุ้นเคยกับภาษา และได้หลักแล้ว ค่อยไปอ่านพระอภิธรรมปิฎก
เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งค่ะที่อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ พระอภิธรรมไม่ใช่วิสัยที่ใครๆ จะ อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย หรือตีความเองได้ง่ายเลยค่ะ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระปัญญา คุณอันเลิศไม่มีใครเสมอ ใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยแสนกัป กว่าจะทรงตรัสรู้ อ่านไปเรื่อยๆ ฟังมากๆ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ สอบถาม ติดตามไป ค่อยๆ เข้าใจนิดๆ หน่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ การฟังจะเป็นการช่วยขยาย ความได้ดีมากค่ะ และจะยิ่งกระจ่างมากขึ้น หากได้ร่วมสนทนาธรรมกับผู้ที่ได้สดับมา ก่อนเรา ติดตามฟังรายการของมูลนิธิฯ นี้ อย่าพลาดนะคะ
ขออนุโมทนา คุณsuchada95 ด้วยครับ
ก็เป็นจริงอย่างที่ว่า การศึกษาพระอภิธรรม เป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยหรอกครับ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง เปิดเผย บัญญัติให้สาวกได้ศึกษา ถ้าเราพยายามติดตามศึกษาไปเรื่อยๆ เรื่องยากก็ค่อยๆ ง่าย ขึ้น และจะค่อยๆ กระจ่างทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็จะเข้าใจและคุ้นเคยกับภาษา ที่แสดงความจริงที่กำลังปรากฏ โปรดศึกษาและติดตาม การฟังธรรมบรรยาย ของ ท่านอาจารย์สุจินต์ ต่อไป ท่านจะได้พบกับสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต
ขออนุโมทนาในคำถามและคำตอบด้วยนะครับ เพราะว่าเป็นคำถามที่ผู้เริ่มต้นศึกษาก็จะมีปัญหาในเรื่องนี้กันทั้งนั้น ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะมีความรู้มากความเข้าใจมากในเรื่องพระอภิธรรม
พระอภิธรรมอ่านยากเพราะเน้นเรื่องของปัญญา ในตอนแรกก็อ่านพระสูตรเรื่องชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับใน อดีตชาติของพระพุทธเจ้า ที่กว่าจะตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญบารมีมานาน กว่า ๔ อสงไขย แสนกัปพระอภิธรรมจริงๆ แล้วก็อยู่ในชีวิตประจำวัน คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ที่เรียน พระอภิธรรม เพื่อให้เห็นปัญญาชองพระพุทธเจ้า ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน กว่าจะ เข้าถึงสภาพธรรม ต้องอบรมอีกยาวนานมาก
ควรอ่าน พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ให้จบก่อนนะคะ ไม่งั้นจะอ่าน พระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์ ไม่รู้เรื่อง พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ควรเรียงลำดับ การอ่าน ดังนี้ ปริจเฉทที่ 1 > 2 >6 > 5 > 7 > 3 > 4 > 8 > 9
ปริจเฉทที่ ๑ ชื่อว่า จิตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิต
ปริจเฉทที่ ๒ ชื่อว่า เจตสิกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงเจตสิก
ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมต่างๆ ๖ หมวด คือ เวทนา เหตุ ทวาร กิจ อารมณ์ และวัตถุ
ปริจเฉทที่ ๔ ชื่อว่า วิถีสังคหวิภาค รวบรวมแสดงวิถีจิต
ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า วิถีมุตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิตที่พ้นวิถี และธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ จิตที่พ้นวิถี เช่น ภพภูมิ ๓๑ กรรม ๑๒ ฯลฯ
ปริจเฉทที่ ๖ ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค รวบรวมแสดงรูปและนิพพาน
ปริจเฉทที่ ๗ ชื่อว่า สมุจจยสังคหวิภาค รวบรวม แสดงธรรม ที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดเดียวกันได้ เช่น อกุศล โพธิปักขิยธรรม ฯลฯ
ปริจเฉทที่ ๘ ชื่อว่า ปัจจยสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมที่อุปการะซึ่งกันและกันและแสดงบัญญัติธรรมด้วย เช่น ปฏิจจสมุปบาท ปัจจัย ๒๔ บัญญัติ
ปริจเฉทที่ ๙ ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค รวบรวมแสดงสมถะ และ วิปัสสนา
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 01112 ความคิดเห็นที่ 6 โดย ภพฺพาคมโน
ขอเรียนถามเพื่อความรู้ครับ สาเหตุที่ต้องอ่านเรียง ตามปริจเฉทที่ 1 > 2 >6 > 5 > 7 > 3 > 4 > 8 > 9 ตามที่กล่าวมาเพราะอะไรครับ ทำไมถึงไม่อ่านเรียงตามปริจเฉทที่ 1.2.3...9 ครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน แต่ละขณะนั้น ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง กล่าวคือไม่พ้นไปจาก จิต เจตสิก และ รูป เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม จึงได้ศึกษา ก็เพื่อเข้าใจในสิ่งที่มีจริงเหล่านี้ สิ่งที่มีจริงเหล่านี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ได้อยู่ในตำรา ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ประการใด แต่ต้องอาศัยตำรา อาศัยหนังสือ ในการอ่าน ไตร่ตรอง พิจารณา ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ดังนั้น ท่านผู้รู้จึงแนะนำให้ศึกษา จิตปรมัตถ์ (ปริจเฉทที่ ๑) เจตสิกปรมัตถ์ (ปริจเฉทที่ ๒) และ รูปปรมัตถ์ (ปริจเฉทที่ ๖) ก่อนปริจเฉทอื่น
เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของ จิต เจตสิก รูป แล้ว ต่อมาจึงค่อยๆ ศึกษาในรายละเอียด ส่วนอื่นๆ อีก ตามกำลังปัญญาของตนเอง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นโดยมีพื้นฐานของความเข้าใจจากการศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป นั่นเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบท่าน อจ. ขอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบพระคุณ...