อรรถกถาอธิบายมโนกรรม [ธรรมสังคณี]

 
JANYAPINPARD
วันที่  5 ก.พ. 2552
หมายเลข  11130
อ่าน  2,259

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 279

ก็แต่ในกาลใด บุคคลมีจิตสหรคตด้วยอภิชฌายังส่วนแห่งกายให้ไหวกระทำกิจมีการถือเอาด้วยมือเป็นต้น มีใจสหรคตด้วยพยาบาทมีการถือไม้เป็นต้น มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิคิดว่า พระขันธกุมาร พระศิวะประเสริฐที่สุด จึงทำกิจมีการอภิวาท อัญชลีกรรม และตกแต่งตั่งน้อยสำหรับภูต เพื่อพระศิวะนั้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวาร ด้วยประการฉะนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก.

ในกาลใด บุคคลมีใจสหรคตด้วยอภิชฌา ยังส่วนแห่งวาจาให้ไหวเพ่งดูอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นโดยพูดว่า โอหนอของผู้อื่นพึงเป็นของเราดังนี้ มีใจสหรคตด้วยพยาบาท กล่าวว่า ขอสัตว์เหล่านี้ถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงขาดสูญ หรือว่า จงอย่าได้มี ดังนี้ มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ ย่อมกล่าวว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้วไม่มีผล เป็นต้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมย่อมตั้งขึ้นในวจีทวาร ด้วยประการฉะนี้ เจตนาในที่นี้ก็เป็น อัพโพหาริก.

ก็ในกาลใด บุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายวาจาให้ไหว นั่งแล้วในที่ลับ ให้จิตทั้งหลายเกิดขึ้นสหรคตด้วยอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ในกาลนั้นกรรมเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวารเหมือนกัน มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวาร ด้วยประการฉะนี้. ก็ในที่นี้ เจตนาก็ดี ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาก็ดี ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารเท่านั้น มโนกรรมที่เป็นอกุศลบัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมตั้งขึ้นมโนทวารแม้ทั้ง ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้.

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 280-282

ก็คำที่ท่านกล่าวว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่เป็นกุศลก็เหมือนกันนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.

จริงอยู่ ในกาลใด บุคคลไม่สามารกล่าววาจาด้วยเหตุบางอย่าง ย่อมถือเอาสิกขาบทเหล่านี้ ด้วยมือและศีรษะว่า ข้าพเจ้าย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แม้ทวารก็เป็นกายทวารเหมือนกัน กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวารอย่างนี้ ธรรมมีอภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้นย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง.

แต่ในกาลใด บุคคลเปล่งวาจารับสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง.

แต่ในกาลใด เมื่อพระภิกษุให้สิกขาบทเหล่านั้นอยู่ บุคคลไม่ให้ส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหว ย่อมรับเอาด้วยใจเท่านั้นว่า ข้าพเจ้าย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ทวารเป็นมโนกรรม กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารอย่างนี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง ก็เมื่อบุคคลรับสิกขาบททั้ง ๔ มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น ด้วยกายเป็นต้นโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ วจีกรรมที่เป็นกุศล บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมตั้งขึ้นในทวารทั้ง ๓ ดังนี้ แม้ในที่นี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้น ก็ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้างเป็นอัพโพหาริกบ้าง.

แต่ว่า บุคคลยังส่วนแห่งกายให้ไหวไปด้วยจิตอันสหรคตด้วยอนภิชฌา เป็นต้น กระทำการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น และไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวารอย่างนี้ แต่ว่าเจตนาในที่นี้ เป็นอัพโพหาริกเท่านั้น เมื่อบุคคลมีจิตสหรคตด้วยอนภิชฌา ยังส่วนแห่งวาจาให้ไหว ไม่เพ่งดูว่า โอหนอ วัตถุเครื่องปลื้มใจของคนอื่นพึงเป็นของเราดังนี้ มีจิตสหรคตด้วยอัพยาบาท กล่าวอยู่ว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขีอตฺตานํ ปริหรนฺตุ ดังนี้ มีจิตสหรคตด้วยสัมมาทิฏฐิ เปล่งวาจาว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผลเป็นต้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก แต่เมื่อบุคคลไม่ให้กายและวาจาไหว นั่งในที่ลับให้จิตเกิดขึ้นสหรคตด้วยอนภิชฌาเป็นต้น ด้วยใจเท่านั้น กรรมเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวารเหมือนกัน มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารอย่างนี้ แต่ในฐานะนี้ เจตนาก็ดี ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาก็ดี ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารเท่านั้น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Komsan
วันที่ 6 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 6 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 6 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
opanayigo
วันที่ 4 มี.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 31 มี.ค. 2553

อัพโพหาริก แปลว่า ไม่มีโวหาร คือหมายความว่า ไม่มีคำบัญญัติที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยว่าจะต้องเป็นอาบัติอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prachern.s
วันที่ 31 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 5

ขอเชิญคลิกอ่านที่ ความหมายของอัพโพหาริก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 15 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 25 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ