อนุสัยกิเลส [อรรถกถา สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส]
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้าที่ 560
บทว่า ทิฏฺฐานุสโย ความว่า ทิฏฐินั้นด้วย เป็นอนุสัยเพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ด้วย ดังนี้จึงชื่อว่าทิฏฐานุสัย แม้ในอนุสัยคือวิจิกิจฉาเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. ชื่อว่า อนุสัย ด้วยอรรถว่าอะไร ด้วยอรรถว่านอนเนื่อง. ชื่อว่า มีอรรถว่านอนเนื่องนี้ เป็นอย่างไร มีอรรถว่าละไม่ได้. เพราะกิเลสเหล่านี้ ชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสันดานของสัตว์นั้นๆ เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้จึงเรียกว่า อนุสัย
บทว่า อนุเสนฺติ ความว่า ได้เหตุที่สมควรย่อมเกิดขึ้น หากจะมีคำถามว่า อาการที่ละไม่ได้ ชื่อว่ามีอรรถว่า นอนเนื่อง ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า อาการที่ละไม่ได้ เกิดขึ้น ฉะนั้น อนุสัยทั้งหลายจึงไม่เกิดขึ้นในข้อนั้นมีคำตอบดังนี้ อาการที่ยังละไม่ได้ ไม่ใช่อนุสัย แต่กิเลสที่มีกำลัง ท่านเรียกว่า อนุสัย เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้อนุสัยที่เป็นจิตตสัมปยุต เป็นไปกับด้วยอารมณ์ เป็นไปกับด้วยเหตุเพราะอรรถว่าเป็นไปกับด้วยปัจจัย เป็นอกุศลโดยส่วนเดียว เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้างเป็นปัจจุบันบ้าง ฉะนั้น จึงควรกล่าวว่า เกิดขึ้น นี้เป็นประมาณในข้อนั้น