เหตุ ปัจจัย....อรรถกถาแสดงรูปวิภัตติ [ธรรมสังคณี]
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 211
คำว่า น เหตุเมว (ไม่ใช่เหตุทั้งนั้น) นี้ ทรงขยายความถึงการปฏิเสธเหตุทั่วไป. ในข้อว่ารูปไม่ใช่เหตุนั้น เหตุมี ๔ อย่าง คือ
๑. เหตุเหตุ คือเหตุที่เป็นมูล
๒. ปัจจยเหตุ คือเหตุที่เป็นปัจจัย
๓. อุตตมเหตุ คือเหตุที่เป็นประธาน
๔. สาธารณเหตุ คือเหตุทั่วไปแก่สรรพสัตว์.
บรรดาเหตุทั้ง ๔ เหล่านั้น เหตุนี้คือ กุศลเหตุ ๓ (อโลภะ อโทสะอโมหะ) อกุศลเหตุ ๓ และอัพยากฤตเหตุ ๓ ชื่อว่า เหตุเหตุ.
เหตุที่ตรัสไว้ในบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป เหล่านี้เป็นเหตุ มหาภูตรูปเหล่านั้นเป็นปัจจัยเพื่อการบัญญัติรูปขันธ์นี้ ชื่อว่า ปัจจยเหตุ.
เหตุที่ตรัสไว้ว่า กุศลธรรมและอกุศลธรรมเป็นเหตุสูงสุด ในฐานะแห่งการให้ผลของตน อิฏฐารมณ์เป็นเหตุสูงสุดในฐานะแห่งกุศลวิบาก อนิฏฐารมณ์เป็นเหตุสูงสุดในฐานะแห่งอกุศลวิบาก ดังนี้ เหมือนที่ตรัสว่า ตถาคตย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งผลแห่งกรรมสมาทาน อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุ ดังนี้ ชื่อว่า อุตตมเหตุ
เหตุที่ตรัสไว้ว่า ข้อที่อวิชชานี้เท่านั้นเป็นเหตุ อวิชชานี้เป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย อวิชชาเป็นเหตุทั่วไปแม้แก่สังขารทั้งหลาย ย่อมแผ่ไปสู่ความเป็นปัจจัย ดังนี้ เหมือนที่ตรัสว่าปฐวีรส อาโป รส เป็นปัจจัยแก่มธุรสบ้าง แก่อมธุรสบ้าง ฉันใด อวิชชาก็เป็นสาธารณปัจจัยแก่สังขารที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง ฉันนั้น ชื่อว่า สาธารณเหตุ