พระพุทธพจน์

 
พุทธรักษา
วันที่  9 ก.พ. 2552
หมายเลข  11208
อ่าน  3,321

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลายอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุดพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะจักประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง" .ดังนี้ ฯ ในหาระ คือ เทศนานั้น อัสสาทะ (ความยินดี) เป็นไฉน หาระ คือ เทศนานี้ว่า

"ถ้าว่า วัตถุกาม ย่อมสำเร็จแก่สัตว์ ผู้ปรารถนาอยู่ได้ไซร้สัตว์ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มแน่แท้" ดังนี้ เป็นอัสสาทะ (ความยินดี) ในหาระ คือ เทศนานั้น อาทีนวะ (โทษ) เป็นไฉน ในหาระ คือ เทศนานี้ว่า "ถ้าว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ มีความพอใจเกิดขึ้นแล้ว กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับ เหมือนลูกศรเสียบแทง ฉะนั้น" ดังนี้ เป็นอาทีนวะ (โทษ)

ในหาระ คือ เทศนานั้น นิสสรณะ (การสลัดออก) เป็นไฉนพระดำรัสนี้ว่า "ผู้ใด ย่อมงดเว้นกามทั้งหลาย เหมือนอย่างบุคคลเว้นห่างศรีษะงู ด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติย่อมก้าวล่วงตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ในโลกนี้ได้" ดังนี้ เป็นนิสสรณะ (การสลัดออก)

ในเทศนาหาระนั้น อัสสาสะ (ความยินดี) เป็นไฉน หาระ คือ เทศนานี้ว่า "นรชนใด ย่อมยินดีกามทั้งหลาย เป็นอันมาก นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส กรรมกร เหล่าสตรี และพวกพ้อง" ดังนี้ ชื่อว่า อัสสาทะ (ความยินดี)

ในเทศนาหาระนั้น อาทีนวะ (โทษ) เป็นไฉน หาระ คือ เทศนานี้ว่า "กิเลสทั้งหลาย อันมีกำลังน้อย ย่อมครอบงำนรชนนั้นอันตรายทั้งหลายย่อมย่ำยีนรชนนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นโดยแท้เพราะถูกอันตรายย่ำยี เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น" ดังนี้ ชื่อว่า อาทีนวะ (โทษ)

ในเทศนาหาระนั้น นิสสรณะ (การสลัดออก) เป็นไฉน พระดำรัสนี้ว่า "เพราะเหตุนั้น สัตว์พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ งดเว้นกามทั้งหลายเสีย สัตว์ละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุรุษวิดเรือแล้ว พึงไปถึงฝั่ง ฉะนั้น" ดังนี้ ชื่อว่า นิสสรณะ (การสลัดออก)

ในเทศนาหาระนั้น ผล (อานิสงส์) เป็นไฉน พระดำรัสนี้ว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ในฤดูฝน ฉะนั้น นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ เป็นผล (อานสงส์)

ในเทศนาหาระ อุบาย (ข้อแนะนำ) เป็นไฉน เทศนานี้ว่า "เมื่อใด บุคคลพิจารณาด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจดเมื่อใด บุคคลพิจารณา เห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นี้เป็นทางแห่งความหมดจด" ดังนี้ เป็นอุบาย (ข้อแนะนำ)

ในเทศนาหาระ อาณัตติ (พระบัญญัติ) เป็นไฉน เทศนานี้ว่า "บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลกเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกทางอันไม่ราบเรียบเสีย ฉะนั้น" ดังนี้ เป็นอาณัตติ (พระบัญญัติ) พระพุทธพจน์ว่า "ดูกรโมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด" ดังนี้ ชื่อว่า เป็นอาณัตติ (พระบัญญัติ)

พระดำรัสว่า "จงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ" ดังนี้ ชื่อว่า เป็นอุบาย (ข้อแนะนำ)

พระดำรัสว่า "เธอจงถอนอัตตานุทิฏฐิแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้ ชื่อว่า เป็นผล (อานิสงส์)

จาก คัมภีร์เนตติปกรณ์ รจนาโดย ท่านพระมหากัจจายนะ แปลโดย อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์


ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 10 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ch_7698
วันที่ 10 ก.พ. 2552

อ่านแล้วน้อมใจตามเสมือนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ups
วันที่ 11 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
arin
วันที่ 13 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ