อาจาระและโคจร
อาจาระและโคจร คืออะไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อาจารคือความประพฤติอันไม่ล่วงทางกายทุจริต ทางวาจาวจีทุจิตแต่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต อีกนัยหนึ่ง อาจารหมายถึง ศีลสังวร เช่น พระภิกษุเลี้ยงชีพถูกต้อง ไม่เลี้ยงชีพด้วยการพูดเล่น พูดประจบ เป็นต้น
อีกนัยหนึ่งอาจารหมายถึงการประพฤติอันสมควร เช่น ภิกษุ สำรวมกาย วาจา นุ่งห่ม เรียบร้อย กิริยาในการก้าวไปเรียบร้อย เคารพยำเกรงในสิกขาบท เป็นต้น โคจร นัยหนึ่งหมายถึงการเที่ยวไปในที่สมควร ไม่เที่ยวไปในที่ไม่สมควร มีสำนักหญิงแพศยา ไม่คลุกคลีกับพระราชาและคฤหัสถ์ เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง โคจร มี 3 อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร คือ การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตรผู้มีคุณธรรมมีปัญญาแล้วทำให้ตัวเองเจริญในคุณธรรมและปัญญา เข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส เป็นต้น อารักขโคจร คือ ภิกษุเป็นผู้สำรวมกาย วาจา เมื่อบิณฑบาต มีจักษุทอดลงต่ำ ไม่แลดูสิ่งไม่ควร ไม่วอกแวก เป็นต้น อุปนิพันธโคจร คือ สิ่งที่ผูกไว้เป็นที่เที่ยวไปของภิกษุคือสติปัฏฐาน 4 นั่นเองครับซึ่งสามารถอบรมได้ในทุกสถานที่เพราะธรรมมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานจึงเป็นโคจรของภิกษุ (อุปนิพันธโคจร)
สามารถอ่านเพิ่มเติมในเรื่องอาจารและโคจรที่นี่ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 394
หรือในวิสุทธิมรรค เรื่อง ศีลนิเทสครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
คำว่าคลุกคลีด้วยหมู่ มีนัยในทางใดบ้าง บวกหรือลบ มีลักษณะของการคลุกคลี อย่างไรบ้างครับ คำว่ายินดีด้วยความไม่คลุกคลี คลุกคลีนัยนี้คือคลุกคลีกับอะไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ความคลุกคลีหมายถึงความคลุกคลีด้วยอำนาจกิเลส ยินดีในการคลุกคลี
ลักษณะของการคลุคลี มี 5 ประการ คือ
คลุกคลีอันเกิดจากการเห็น เช่น เมื่อได้เห็นรูปอันสวยงามก็เกิดความยินดีพอใจใน สิ่งนั้น เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ชื่อว่าคลุกคลี คลุกคลีอันเกิดจากการได้ยิน เช่น เมื่อได้ยินถึงเรื่องราวของบุคคลใด บุคคลหนึ่งก็ เกิดความยินดีพอใจในบุคคลนั้นแม้เพียงได้ยินก็ชื่อว่าคลุกคลีเพราะกิเลสเกิดขึ้น คลุกคลีอันเกิดจากการสนทนาปราศัย คลุกคลีอันเกิดจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น เมื่อมีการให้ของซึ่งกันและกันก็เกิด ความสนิมสนม เกิดความยินดีพอใจก็ชื่อว่าคลุกคลี คลุกคลีอันเกิดจากการสัมผัสกาย
คำว่ายินดีด้วยความไม่คลุกคลีคือไม่ยินดีด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น จากกเห็น ได้ยิน เป็นต้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าแม้อยู่กับคนหมู่มากก็ชื่อว่าไม่คลุกคลีกครับ
ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมในเรื่องความคลุกคลีได้โดยตรงจากพระไตรปิฎกที่นี่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 404
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์