ความลึกของกิเลส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทันทีที่ตื่นขึ้นมา หลงเลยเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ เวลาที่จิตเป็นภวังค์ ขณะนั้นไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขณะนั้นๆ โลกทั้ง ๖ ไม่ปรากฏความสำคัญตน ว่า เป็นบุคคลในโลกนี้ ไม่ปรากฏเลย แต่ว่า ในขณะที่จิตเป็นภวังค์แม้โลกนี้ไม่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกิเลสใดๆ เลยถึงแม้ไม่รับรู้อารมณ์ทาง ๖ ทวาร โลกนี้ไม่ปรากฏ แต่ขณะนั้นผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ต้องมี อนุสัยกิเลส
อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลาง วีติกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ
อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างละเอียด ที่สะสมนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตไม่ได้เกิดปรากฏ กระทำกิจการงาน
ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง ที่เกิดขึ้นกระทำกิจที่ ชวนวิถีจิต
วีติกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ก็ไม่พ้นจาก ชวนวิถีจิต
เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเท่านั้น ที่จะมีอนุสัยกิเลส ให้ทราบว่า เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสหรือคิดนึก ขณะนั้นไม่มีอนุสัยกิเลส ขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นมีการสั่งสมสันดานของตน ที่ชวนวิถีจิตถ้าเป็นอกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นกิเลสอย่างกลางหรือเป็นกิเลสอย่างหยาบซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการล่วงทุจริต ทางกาย ทางวาจา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ขณะที่เห็นไม่มีอนุสัยกิเลส และถ้าเกิดอกุศลจิตสั่งสมสันดานที่ชวนวิถีจิตก็เป็นกิเลสอย่างหยาบหรือกิเลสอย่างกลาง (แล้วแต่กำลังของกิเลส) ปกติเราไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม ว่าสั่งสมสันดานอยู่ตลอด ทุกขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่น ดีไหม ดูเหมือนทุกท่านปรารถนาแต่ความรู้สึกสบาย แต่ถ้าวันไหนตื่นขึ้นมาอ่อนเพลีย จิตใจเศร้าหมองขณะนั้นไม่ชอบ เพราะว่า ลักษณะของโทสมูลจิตประกอบด้วยโทมนัสเวทนาเวทนา ในขณะนั้นทำให้สภาพของจิต ปรากฏเป็นจิตที่ไม่ชอบ โดยเวทนาในขณะนั้น เป็นโทมนัสเวทนา
ทุกท่านก็ปรารถนาที่จะตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ปกติชอบที่จะรู้สึกสดชื่น ชอบไหมคะอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดหรือกุศลจิตไม่เกิดขณะนั้น กำลังสั่งสมสันดานของความพอใจคือ โลภมูลจิต การสั่งสมสันดานเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างเบาบาง จนกระทั่งไม่รู้สึกตัวเลยแม้กิเลสอย่างกลาง ก็มีอย่างเบาบางจนถึงอย่างรุนแรงและกิเลสอย่างหยาบ ก็เป็นปัจจัยให้ล่วงทุจริตทางกาย วาจา
เพราะฉะนั้น ควรทราบ ว่าการที่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานการได้ฟังเรื่องของจิตอย่างละเอียด ถึงวิถีจิตต่างๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกซึ่งเกิดปรากฏ ในชีวิตปกติประจำวัน เพื่อประโยชน์ คือ ให้รู้จักตัวเองว่า เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นได้สั่งสมอกุศลจิตมามากแค่ไหน ทั้งในอดีต ปัจจุบันและถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานภพชาติต่อๆ ไป อกุศลจะเพิ่มมากขึ้นอีกมากสักเท่าไร
ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดมีใครจะบอกได้ไหมว่า อกุศลน้อยลงเพราะว่า ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงและอกุศลนั้นๆ จะลดลงได้อย่างไร เพราะแม้แต่ตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกสบายสดชื่น รู้สึกชอบใจ พอใจ ก็ไม่รู้แล้วว่า ขณะนั้นน่ะกำลังสั่งสมสันดานที่เป็น โลภมูลจิต แล้วได้สะสมอกุศลมามากเท่าไรแล้ว ที่พอใจอย่างนั้น โดยที่ไม่เห็น ว่าเป็นโทษ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้น เป็นโทษ
การสั่งสมสันดาน ทั้งทางปัญจทวารวิถีจิต และมโนทวารวิถีจิตทีละเล็กทีละน้อย ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ในภพชาตินี้ และในภพชาติก่อนๆ จะมากสักเท่าไร แล้วถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย จะสั่งสมกิเลสต่อไป อีกมากมายสักแค่ไหน และปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงก็ย่อมมีไม่ได้ ถ้าไม่มีการอบรม แต่พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็เพื่อประโยชน์แก่สาวกผู้สดับฟัง ให้เป็นผู้ไม่ประมาทที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนาโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทปโดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล
ขออนุโมทนา
พระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็เพื่อประโยชน์แก่สาวกผู้สดับฟัง ให้เป็นผู้ไม่ประมาทที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง
สาธุ
จิต ที่ไม่ใช่วิถีจิตเท่านั้น ที่จะมีอนุสัยกิเลส ให้ทราบว่า เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือ คิดนึกขณะนั้นไม่มีอนุสัยกิเลส อนุสัยกิเลส ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งนัก
อ้างอิงความเห็นที่ 2 กิเลส ๓ ขั้นคือ
๑. วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย วาจา วิรัติ คือละเว้นวีติกกมกิเลสได้ด้วยศีล
๒. ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม ระงับปริยุฏฐานกิเลสได้ชั่วคราว เป็นวิกขัมภณปหานด้วยฌานกุศลจิต
๓. อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส อนุสัยกิเลสก็นอนเนื่องอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน เป็นเชื้อ เป็นปัจจัย ให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส กิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่เกิดอีกเลย เมื่อโลกุตตรมัคคจิต รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพานตามลำดับ ขั้นของมัคคจิต ซึ่งปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลำดับขั้นของมัคคจิตนั้นๆ
(จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป โดย อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ หน้า ๔๕๗)
ขออนุโมทนาค่ะ ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบาย อนุสัยกิเลส ให้ทราบด้วยค่ะว่าอนุสัยกิเลสเป็น
กิเลสที่ไม่ได้แสดงออก แล้วเราจะรู้ได้หรือไม่ว่าสิ่งใดเป็นอนุสัยกิเลส
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 11281 ความคิดเห็นที่ 5 โดย สุภาพร
ขออนุโมทนาค่ะ ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบาย อนุสัยกิเลส ให้ทราบด้วยค่ะว่าอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่ไม่ได้แสดงออก แล้วเราจะรู้ได้หรือไม่ว่าสิ่งใดเป็นอนุสัยกิเลส ก่อนอื่นขอเรียนว่าไม่ใช่ผู้รู้ แต่เป็นผู้ศึกษาค่ะ
แต่ขออนุญาตยกตัวอย่างตามที่เข้าใจนะคะ ถ้าหากเปรียบ "อนุสัยกิเลส" เป็นเชื้อโรค ที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่า ไม่เห็นและอยู่ในระยะฟักตัว ยังไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะออกฤทธิ์ ไม่สามารถรู้ได้ว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่เมื่อไรที่เริ่มมีอาการ เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ เพราะเชื้อโรคนั้นเราก็รู้ว่าในร่างกายมีเชื้อโรคอยู่ เมื่อมีอาการปรากฏ เป็นต้นค่ะ
เปรียบเทียบได้เข้าใจง่ายๆ ดี
ขออนุโมทนากับคุณพุทธรักษาครับ