การละความเพ่งเล็ง...?

 
พุทธรักษา
วันที่  23 ก.พ. 2552
หมายเลข  11336
อ่าน  1,716

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง
อาจารย์คงพบในพระไตรปิฎกบ่อยๆ ว่าการละความเพ่งเล็งในโลก มีความหมายลึกซึ้งหมายความว่า เป็นการละโลภะ หรือ เป็นการละตัวตน

ท่านอาจารย์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เรื่องของอกุศล ก็ทรงแสดงไว้ครบถ้วน คือ ถ้าเป็นโลภะ ก็เป็นโลภะ ประการต่างๆ ตั้งแต่ความยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ความยึดมั่นในความเห็นผิด ความยึดมั่นในตัวตน ฯลฯ ฉะนั้น ที่ว่าละความเพ่งเล็ง ก็คือ ละทั้งหมดนั้นล่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งเล็ง อยากได้วัตถุของบุคคลอื่น ที่เจ้าของไม่ได้ให้ นั่นก็เป็นอกุศลกรรมบถ

การเพ่งเล็ง ปรารถนาที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดดับ โดยไม่เจริญหนทางที่ถูกต้องนั่นก็เป็นความเพ่งเล็ง เป็นความต้องการ ซึ่งปิดบังไม่ให้ปัญญา ประจักษ์แจ้งความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งเล็งอะไรทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ควรละทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ควรคิดถึง "กิเลส" ที่มีมากนะคะกิเลส ซึ่งจะละได้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เช่น ในขณะนี้ มีแต่สภาพธรรม เท่านั้นที่เกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็ดับไป สภาพธรรมเกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากแต่เมื่อเป็นความจริง เป็นของจริงสติ ก็สามารถที่จะรู้ในสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏนั้นได้โดยการเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ แต่ละชนิด แต่ละทางเช่น เสียง จะไม่ปรากฏทางตา สี จะไม่ปรากฏทางหู เป็นต้น

สภาพที่รู้ ก็รู้สภาพธรรมแต่ละอย่าง จะรู้พร้อมกันไม่ได้เช่น การเห็น เป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาสภาพธรรมนี้ ไม่สามารถที่จะรู้เสียงได้ในขณะที่รู้ (เห็น) สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องรู้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น และหาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้เลย

ในขณะที่เสียงปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางหู เท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่นและสภาพธรรม ที่รู้เสียง คือ การได้ยินก็หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียง ไม่ได้เลย เป็นต้น

สภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้น ปรากฏ แล้วดับหมดไปอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลาสติรู้ตามความจริง ทีละเล็ก ทีละน้อย ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่สติไม่เกิด ก็หลงลืมสติ คือ เป็นไปแล้วที่จะหลงลืมสติและไม่ใช่ "เรา" ที่จะไปบังคับให้สติเกิดได้. (สติ ก็เป็นอนัตตา คือ บังคับบัญญชาไม่ได้ ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย)

ขณะสติไม่เกิด ก็ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใดที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้น ก็ไม่ใช่ "เรา" แต่เป็นเพราะ สติเกิด ทำกิจระลึก และ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นการอบรม เจริญมรรคมีองค์ ๘ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ไปตั้งใจ หรือ ไปใช้สติได้..

แนวทางเจริญวิปัสสนาโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
orawan.c
วันที่ 24 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 24 ก.พ. 2552
ถ้าขณะเสียงปรากฏ มีลักษณะดัง แล้วขณะได้ยิน จะมีลักษณะอย่างไรครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 24 ก.พ. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 11336 ความคิดเห็นที่ 2

ถ้าขณะเสียงปรากฏ มีลักษณะดัง แล้วขณะได้ยิน จะมีลักษณะอย่างไรครับ

ขณะที่ได้ยิน มีลักษณะ รู้อารมณ์ คือเสียง

ได้ยิน (โสตวิญญาณ) เป็นลักษณะของนามธรรม ที่รู้ได้เฉพาะรูปธรรม คือ เสียง (สัททารมณ์) เท่านั้นโดยต้องอาศัยโสตปสาท ที่กระทบกับ เสียงที่มีลักษณะ "ดัง" ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 25 ก.พ. 2552

โสตปสาท ที่กระทบกับ เสียงที่มีลักษณะ "ดัง" ขณะได้ยิน มีรูปเสียงไหมครับ ถ้ามี "ที่ดังอยู่" เป็นเสียง ไม่ใช่ได้ยิน หรือว่าใช่ได้ยินครับ หรือว่า เสียง "ก็ดัง" ได้ยิน "ก็ดัง"
หรือว่า ได้ยิน ไม่ใช่ "ดัง" แต่เป็นเสียง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 25 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 ก.พ. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 11336 ความคิดเห็นที่ 4

โสตปสาท ที่กระทบกับ เสียงที่มีลักษณะ "ดัง" ขณะได้ยิน มีรูปเสียงไหมครับ ถ้ามี "ที่ดังอยู่" เป็นเสียง ไม่ใช่ได้ยิน หรือว่าใช่ได้ยินครับ หรือว่า เสียง "ก็ดัง" ได้ยิน "ก็ดัง" หรือว่า ได้ยิน ไม่ใช่ "ดัง" แต่เป็นเสียง ขณะที่ได้ยิน เสียงต้องมีปรากฏ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีการได้ยิน

คำว่า "ที่ดังอยู่" เข้าใจว่า เป็นการคิดนึก ถึงลักษณะของเสียง ทางใจ (มโนทวารวิถีจิต) ดังนั้น เมื่อเป็นการคิดนึกทางใจ จึง ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินเพราะขณะที่ได้ยินเสียง ต้องเป็นโสตวิญญาณจิต ทางปัญจทวารวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏ

เสียงเป็นรูปธรรม ที่มี ลักษณะดัง เสียงเป็นสภาพธรรม ที่ไม่รู้อะไรเลย.
ต่างจากได้ยิน ซึ่งเป็นนามธรรม ได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่รู้ และรู้ได้เฉพาะ ลักษณะของเสียง ที่กำลังปรากฏ เท่านั้น.

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อน ว่าอะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรมจึงจะไม่เข้าใจสับสนปะปนกัน และเมื่อระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริงโดยการตามระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อการรู้ชัดจึงชื่อว่า"เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน"

ปุถุชนอย่างเราๆ ที่ "เป็นผู้มีปกติหลงลืมสติ"จึงไม่มีทางที่จะรู้ชัด ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เพราะว่า ปัญญาขั้นฟัง ยังไม่มีกำลังพอที่จะเป็นปัจจัยแก่การ "เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน"จึงต้องฟัง จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ด้วยความไม่ประมาทโดยการ ฟังให้เข้าใจในพระธรรมที่ได้ฟัง เสียก่อนค่ะ

ทุกคนเริ่มจาก ความสงสัยทั้งนั้นจึงมาศึกษาพระธรรม เพื่อละคลายความสงสัยความเข้าใจพระธรรม ยิ่งมากความสงสัยก็จะยิ่งน้อยลงจนกว่าจะละความสงสัยเป็นสมุจเฉทด้วยการเป็นพระโสดาบัน ในสักวันหนึ่ง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 1 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนากับคุณพุทธรักษา ครับ

ละเอียดชัดเจนครับ คำว่า "ที่ดังอยู่" เข้าใจว่า เป็นการคิดนึก ถึงลักษณะของเสียง ทางใจ (มโนทวารวิถีจิต) ดังนั้น เมื่อเป็นการคิดนึกทางใจ จึง ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินเพราะขณะที่ได้ยินเสียง ต้องเป็นโสตวิญญาณจิต ทางปัญจทวารวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏ

ขอบคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ