ความเป็นพระพุทธเจ้า [นิทานกถาวรรณนา]
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 16
ก็ในเวลาที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้า บำเพ็ญโพธิสมภารเสร็จบริบูรณ์แล้วในภพสุดท้าย บำเพ็ญบุพกิจเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จขึ้นสู่โพธิมณฑล ทรงตั้งปฏิญญาว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ จนกว่าจิตของเราจักหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น (ถือมั่น) ดังนี้แล้ว ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ (บัลลังก์ที่พญามารมิอาจผจญได้) ยังไม่ทันถึงเวลาเย็น ก็ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารเสียได้ ทรงระลึกถึงขันธ์ที่พระองค์เคยอยู่อาศัยมาแล้วในก่อน ในโวการภพที่มีอาการมิใช่น้อย ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปุริมยาม (ยามต้น) ทรงบรรลุจตูปปาตญาณและอนาคตังสญาณ ด้วยการชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ ในมัชฌิมยาม (ยามกลาง) ทรงตั้งมั่นซึ่งวิปัสสนาโดยมุขคือปฏิจจสมุปบาท จำเดิมแต่ชราและมรณะ โดยนัยมีอาทิว่า สัตวโลกนี้ ถึงความลำบากหนอย่อมเกิด แก่ ตาย จุติ และอุปบัติ ก็และถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่รู้จัก (พระนิพพาน) อันเป็นเครื่องสลัดทุกข์นี้ คือ ชราและมรณะ เป็นพระโลกนาถลับขวาน คือพระญาณ เพื่อจะตัดเสียซึ่งชัฎคือกิเลส ดุจลับขวานที่หินสำหรับลับ เพื่อจะ ตัดชัฏใหญ่ (ถางป่าใหญ่) ฉะนั้น ทรงยังวิปัสสนาให้ตั้งท้อง โดยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เพราะเหตุสมบัติ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า ถึงความแก่กล้า ทรงเข้าสมาบัติต่างๆ ในระหว่างๆ ทรงยกนามรูปตามที่ทรงกำหนดแล้วขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาสังขารในโวการภพมีอาการมิใช่น้อย ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาธรรมตามลำดับบท ยังสัมมสนวารให้พิสดารแล้ว โดยมุขแห่งธรรม ๓๖ แสนโกฏิ
เมื่อวิปัสสนาญาณกล่าวคือมหาวชิรญาณ ในสัมมสนญาณนั้นแก่กล้า ผ่องใส เป็นไปโดยความเป็นวุฏฐานคามินี ทรงสืบต่อสัมมสนญาณนั้นด้วยมรรคได้ ในเวลาใด ในเวลานั้น ทรงยังกิเลส ๑,๕๐๐ ให้สิ้นไป โดยลำดับแห่งมรรค ชื่อว่า ย่อมตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณในขณะแห่งมรรคอันเลิศ (อรหัตตมรรค) จำเดิมแต่ขณะแห่งผลอันเลิศ (อรหัตตผล) ชื่อว่า ทรงบรรลุแล้วในปัจฉิมยาม (ยามสุดท้าย) ก็แม้ทศพลญาณ และเวสารัชชญาณ เป็นต้น ชื่อว่า ย่อมอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ในเวลานั้น เพราะความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ข้อนี้ จึงจัดเป็นปฏิปทาแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ