ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องของการกราบไหว้นอบน้อมต่อพระภิกษุ

 
พุทธรักษา
วันที่  2 มี.ค. 2552
หมายเลข  11413
อ่าน  1,212

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งความเห็นผิด มีมากเหลือเกินโดยมากก็จะมีผู้ที่ไม่เข้าใจ ในเรื่องจิตใจของผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นสูงและเข้าใจผิด ในกาย ในวาจา ของท่านเหล่านั้น.

ข้อความ ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๘๓ หน้า ๙๐ สูตรที่ ๗ ว่าด้วยชื่อว่า เป็นบัณฑิต และ เป็นเถระมิใช่เพราะเป็นคนแก่

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะ อยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้กรุงมธุราครั้งนั้นแล พราหมณ์กัณฑรายนะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ได้ปราศัยกับท่านพระมหากัจจานะครั้นผ่านการปราศัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้ถามว่า "ดูกร ท่านกัจจานะข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ท่านสมณะกัจจานะ หาได้อภิวาทลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ ที่ชรา แก่เฒ่า ล่วงกาล ผ่านวัยหรือเชื้อเชิญ ด้วยอาสนะไม่ ดูกร ท่านกัจจานะการกระทำเช่นนี้นั้น เป็นการไม่สมควรแท้"

ท่านพระมหากัจจานะ ตอบว่า"ดูกร พราหมณ์ ภูมิคนแก่ และ ภูมิเด็กที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ ทรงเห็น พระองค์ ตรัสไว้ มีอยู่

ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่ มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี แต่กำเนิดก็ดีแต่เขายังบริโภคกาม อยู่ท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ยังเป็นผู้ขวนขวาย เพื่อแสวงหากามเขายังนับว่า เป็นพาล ไม่ใช่เถระ โดยแท้

ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้ว่า จะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิทประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัยแต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่ตั้งอยู่ท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกินไม่ขวนขวาย เพื่อแสวงหากามเขาย่อมถึงการนับว่า เป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียว แล"

ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะ กล่าวอย่างนี้แล้วพราหมณ์กัญฑรายนะ ได้ลุกจากที่นั่ง แล้วกล่าวว่า

"พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้ว ในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่แล้ว ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ ภาษิตของท่าน แจ่มแจ้งนัก

ท่านพระกัจจานะ ประกาศธรรม โดยเอนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทาง แก่ผู้หลงทาง หรือ ส่องประทีป ในที่มืดด้วยตั้งใจ ว่า คนมีจักษุ จักเห็นรูป ฉะนั้น

ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ ข้าพเจ้า ขอถึงพระโคดม ผู้เจริญ พระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะ จงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป"

ท่านผู้ฟัง เรื่องนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกัน คือทุกวันนี้ ที่ลูกชายบวชโดยทั่วไปแล้ว พ่อ แม่ ก็ยังต้องกราบไหว้อันนี้ ผมเข้าใจว่า ผู้บวช นับแต่วันที่บวช ที่พ่อ แม่ กราบไว้นั้น เพราะว่า บวชแล้วท่านต้องมีศีล ๒๒๗ ข้อ หลังจากที่บวชแล้ว แต่ ท่านพระมหากัจจานะ บอกว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่ควรจะกราบไหว้ เพราะถือว่าเป็นเถระนั้น เพราะท่านละกามแล้ว แล้วผู้ที่บวชใหม่ๆ ท่านก็ยังติดในกามคุณ ๕ ท่านยังละไม่ได้นี่ครับ ที่เรากราบพระภิกษุ กันทุกวันนี้กราบท่าน เพราะว่า ท่านละกามหรือ ว่าท่านมีศีล ๒๒๗ ละครับ

ท่านอาจารย์
ท่านมีศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่ออะไรคะ

ท่านผู้ฟัง
ก็แล้วแต่ซิครับ จะเพื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้

ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ในการรักษาศีล ในเพศของบรรพชิตก็เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในเพศของบรรชิต.จุดประสงค์มีอยู่ค่ะเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในเพศบรรพชิตจึงควรที่จะกราบไหว้

ท่านผู้ฟัง
ในเมื่ออย่างนี้แล้วผมก็ยังไม่รู้ ว่าท่านมีศีล หรือว่าท่านละกามได้แล้ว...?

ท่านอาจารย์
จะรู้ได้อย่างไร ว่า ละกามได้แล้วหรือยัง แต่ จุดประสงค์ของการอุปสมบท ก็มีอยู่ชัดแจ้ง ว่า เพื่อรู้อริยสัจจธรรม เพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทก็ควรที่จะกราบไหว้ได้ ใช่ไหม และในขณะที่กำลังกราบไหว้นั้น ก็เจริญสติ ระลึกรู้ "ลักษณะของสภาพจิต" ในขณะนั้น ซึ่งปราศจากมานะ ความสำคัญตน ความถือตน จึงแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมได้

เพราะว่า วันหนึ่งๆ ก็คงมีการกราบไหว้ และหลายครั้ง ที่ไม่มีการระลึกรู้ "ลักษณะของสภาพจิต" ในขณะที่กราบไหว้นั้น คือ เป็นผู้หลงลืมสติในขณะที่กำลังกราบไหว้นั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องของ "การรู้ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้" และเป็น "การละ ในสิ่งที่เคยยึดถือ" ในสิ่งต่างๆ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน

ขณะใด ที่สติเกิด ก็ระลึก ศึกษา สังเกต ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด ปรากฏในขณะนั้นเพื่อที่จะรู้ "สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน" ของสภาพธรรมที่เกิด ปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริงเช่น สภาพของจิต ที่ปราศจากความสำคัญตนในขณะที่กำลังกราบไหว้ ผู้ที่ควรกราบไหว้

สติเกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ว่าไม่ใช่ตัวตนของเราเลย...แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมคือนามธรรม หรือ รูปธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานที่มีการกล่าวถึง เรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็เพื่อเป็นปัจจัย ไม่ให้หลงลืมสติ แม้ในขณะที่กราบไหว้ หรือ นอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อมแล้วก็เคยหลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมหรือ รูปธรรม ในขณะที่กราบไหว้นั้น

จริงๆ แล้ว สติเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยสติเกิดขึ้นแล้ว ก็ระลึกรู้ลักษณะ ของนามธรรม หรือ รูปธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ตามปกติ ตามความป็นจริง

บางท่าน อาจจะสังเกต สภาพจิตที่เกิดได้ ว่า ขณะใด ที่กำลังกราบพระ สติก็เกิดเป็นประจำ เพราะว่า แต่ละคน มีการสะสมมา ไม่เหมือนกัน สติระลึกและปัญญารู้ ลักษณะของสภาพธรรม คือ นามธรรม หรือ รูปธรรมในขณะนั้นได้บ่อย จนเกือบจะเรียกได้ ว่า เป็นปกติ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงไม่เหมือนกันเลย และแต่ละคน จะรู้จักตนเอง ตามความเป็นจริง เมื่อแต่ละคนนั้น เป็นผู้มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน

ขณะใดที่สติเกิด แล้วมีการสำเหนียก การสังเกต และได้พิจารณา "เห็นความเป็นอนัตตาของสติ" ที่ท่านได้สะสมมา ที่ระลึกรู้ลักษณะ ของนามธรรม หรือ รูปธรรมนั้นๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรมเท่านั้น ที่กำลังปรากฏ นอกจากสภาพธรรมแล้ว ไม่มีอะไรเลย

สำหรับผู้ที่สังเกต สภาพจิตของตนเองแล้วทราบว่า ท่านมีมานะมาก อย่างนั้นก็เพราะเหตุว่า มีมานะที่ได้สะสมมาแล้วมากมาย ในอดีต อนันตชาติ แต่ละภพ แต่ละชาติ การสะสมของจิต ก็เกิดขึ้น เป็นไป ทุกขณะจิตและยิ่งเพิ่ม "ความวิจิตรในการสะสมของจิต"

ที่จะเป็นเหตุปัจจัย ให้สภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้น ที่ต้องเป็นไปและแตกต่างกันไป ในขณะหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านทราบ ว่า ท่านมีมานะมาก ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย ที่จะดับมานะนั้นนอกจาก สติเกิดขึ้นระลึก "ตรงสภาพธรรมที่เป็นมานะ" แล้ว ปัญญาก็รู้ "ลักษณะของมานะ" ที่กำลังเกิด และปรากฏ ในขณะนั้นๆ และรู้ว่าสภาพมานะ ที่เกิดขึ้นขณะนั้น เพราะว่า มีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้ว จึงเกิด "สภาพของมานะ" ในขณะนั้น ปรากฏได้อย่างนั้น ตามความเป็นจริง

และไม่ว่าจะเป็นกิเลสใดๆ ก็ตาม จะเป็นความริษยา ความตระหนี่ มานะ-ความสำคัญตน ฯลฯ หรือ อกุศลธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้น เป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย แต่สติ ก็สามารถระลึก และ ปัญญา ก็รู้สภาพธรรมนั้นๆ ได้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

แนวทางเจริญวิปัสสนาบรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 2 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 2 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

(ในวันๆ หนึ่งก็หลงไป เพลินไปกับมานะบ้าง ตระหนี่บ้าง ริษยาบ้าง ตามเหตุปัจจัย)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 3 มี.ค. 2552

เพราะฉะนั้น เรื่องของการขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องของ "การรู้ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้" และเป็น "การละในสิ่งที่เคยยึดถือ" ในสิ่งต่างๆ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน

ขณะใด ที่สติเกิด ก็ระลึก ศึกษา สังเกต ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด ปรากฏในขณะนั้นเพื่อที่จะรู้ "สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน" ของสภาพธรรมที่เกิด ปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริง

ระลึกในความไม่มีเรา ความเบาปรากฏ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
hadezz
วันที่ 3 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
captpok
วันที่ 4 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ