เว้นการฟ้อนรำ การขับร้อง และการประโคมดนตรี [จุลวรรค]

 
JANYAPINPARD
วันที่  3 มี.ค. 2552
หมายเลข  11434
อ่าน  3,227

[เล่มที่ 9] พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘
[๑๙] สมัยต่อมา ที่พระนครราชคฤห์ มีงานมหรสพบนยอดเขาพระฉัพพัคคีย์ได้ไปเที่ยวดูงานมหรสพ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้ไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง และเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการประโคมดนตรี รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ.

ข้อความขยายจากอรรถกถา วินิจฉัยในคำว่า น ภิกฺขเว นจฺจํ วา เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้:-

เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไปเพื่อดูการฟ้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้การฟ้อนแห่งนกยูง. เมื่อภิกษุฟ้อนแม้เองก็ตาม ให้ผู้อื่นฟ้อนก็ตาม เป็นทุกกฏเหมือนกัน .

แม้การขับอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการขับของคนฟ้อนก็ตามเป็นการขับที่ดี (คือ เนื่องเฉพาะด้วยอนิจจธรรมเป็นต้น) ก็ตาม โดยที่สุดแม้การขับด้วยฟันก็ไม่ควร. ภิกษุคิดว่า เราจักขับ แล้วร้องเสียงเปล่าในส่วนเบื้องต้นเพลงขับแม้การร้องเสียงเปล่านั้น ก็ไม่ควร. เมื่อภิกษุขับเองก็ตาม ให้ผู้อื่นขับก็ตามเป็นทุกกฏเหมือนกัน.

แม้การประโคม อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ควร. แต่เมื่อรำคาญหรือตั้งอยู่ในที่น่ารังเกียจ จึงดีดนิ้วมือก็ตาม ตบมือก็ตาม, ในข้อนั้นไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อยู่ภายในวัด เห็นการเล่นทุกอย่างมีการฟ้อนเป็นต้น .

เมื่อภิกษุออกจากวัดไปสู่วัด (อื่น) ด้วยตั้งใจว่า เราจักดู ดังนี้ เป็นอาบัติแท้. นั่งอยู่ที่อาสนศาลาแล้วเห็น, ไม่เป็นอาบัติ. ลุกเดินไปด้วยคิดว่าเราจักดู เป็นอาบัติ. แม้ยืนอยู่ที่ถนนเหลียวคอไปดู เป็นอาบัติเหมือนกัน.


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ