ธรรมะ คืออะไร?
ธรรมะ คืออะไร? สติคืออะไร? การปฏิบัติธรรม คืออะไร?
ขอความเมตตาผู้รู้ได้ตอบคำถามนี้ เพื่อความรู้ยิ่งขึ้นไป ของผมด้วยเทอญ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ธรรมคืออะไร?
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น แสดงถึงความเป็นจริง
ของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา โดยพระองค์ทรงใช้
พยัญชนะที่หลากหลายมากมายในการแสดงพระธรรมเทศนา เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึง
ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สำหรับธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มี
จริงนั้น ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส
รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา โดยประมวล
แล้ว เป็นจิต เจตสิก รูป หรือ เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม เมื่อประมวลให้ย่อที่สุดแล้ว
คือ เป็นธรรม หรือ เป็นธาตุ เมื่อเป็นธรรม เป็นธาตุแต่ละอย่างๆ จึงหาความเป็นสัตว์
เป็นบุคคลไม่ได้เลย การศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด จุดประสงค์ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริง ถ้าไม่อาศัยการฟัง ไม่อาศัยการศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้ ดังนั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ..
๒. สติ คือ อะไร? สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภทสติเป็นอนัตตา ไม่มีใครบังคับให้สติเกิดขึ้นได้ สติย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยต้องอาศัยฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และมีกัลยาณมิตร สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในทาน (การให้) เป็นไปในศีล (งดเว้นไม่กระทำบาปทั้งปวง) เป็นไปในสมถภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต) และเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา (การอบรมเจริญ-ปัญญา เพื่อเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง) สำหรับบุคคลผู้เป็นปุถุชนแล้วในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศล ขณะที่จิตเป็นอกุศลนั้น ไม่มีสติเกิดขึ้นเลย เพราะสติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่เมื่อใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในกุศลประเภทต่างๆ ขณะนั้นจึงมีสติเกิดร่วมด้วย ..
๓. การปฏิบัติธรรม คือ อะไร? คำว่าปฏิบัติที่ใช้กันในภาษาไทย กับปฏิบัติในภาษาบาลี ความหมายไม่ตรงกันกล่าวคือ โดยมากจะเข้าใจกันว่า เป็นการไปทำ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่การไปทำเพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาแต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจขึ้นไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับคำว่า ปฏิบัติธรรมนั้น ในพระไตรปิฎกแสดงถึงคำเต็มไว้ คือ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมคือ สมควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ครับ ..
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ดังนั้น การศึกษาธรรมะ จึงควรที่จะเริ่มต้นด้วยการเสพคบกับกัลยาณมิตร เพื่อให้ได้ฟังพระธรรม ใช่มั้ยครับ?
ขอเชิญอ่านกระทู้
11254 อะไรเป็นอรุณรุ่ง อะไรเป็นบุพนิมิต ของพรหมจรรย์ โดย WS202398
ขออนุโมทนาครับ
เรียนคุณธีรวุฒิที่เคารพ ขอโอกาสสนทนาธรรมนะครับ
วันหนึ่งมีจดหมายจากผู้ต้องขัง ถึงอาจารย์ ใจความคือกราบขอขมาที่ได้ล่วงเกินท่านอาจารย์ เพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิงไม่น่าจะแสดงธรรมได้แจ่มแจ้ง ท่านอาจารย์กล่าวกับทุกคนว่า "พุทธบริษัท ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย การที่จะได้เกื้อกูลกันให้เข้าใจพระธรรมนับว่าเป็นประโยชน์" จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนกระทู้ถึงคุณธีรวุฒิในครั้งนี้ด้วยคนนะครับ
การเริ่มศึกษาพระธรรมในชาตินี้
คือการรู้จักธรรมะก่อน
1. ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือทุกสิ่งที่มีจริง เกิดปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเมื่อมีเหตุ ปัจจัยพร้อมจึงเกิด บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อเกิดแล้ว ตั้งอยู่ แล้วดับไป รวดเร็วมาก เร็วจนมนุษย์อย่างเราไม่อาจรู้ได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เกิดดับติดต่อกันเร็วมาก จนเห็นเป็นคน เป็นสิ่งของ เป็นเรื่องราว คิดว่าเป็นตัวเรา ของเรา อย่างแน่นหนา ไม่อาจรู้เลยว่านั่นเป็นเพียงธรรมะ ที่เกิดแล้วดับแล้วไม่คืนมาได้เลย ไม่มีสาระใดๆ เลย
สิ่งที่ปรากฏดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกก็ได้ เป็นสภาพธรรมชาติที่มีลักษณะของตน เมื่อเกิดขึ้นก็ทำหน้าที่ของตน แล้วดับไป ที่เรียกชื่อเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพื่อการศึกษา ว่าสภาพธรรมะนี้เรียกอย่างนี้ เช่นสภาพที่ยินดีพอใจเรียกโลภะ สภาพที่ไม่พอใจ ขุ่นใจ ร้อนใจเรียกว่าโทสะ สภาพที่เข้าใจว่าเป็นตัวเราของเรา อย่างแน่นหนา ไม่รู้ความจริงเรียกว่าโมหะ
ฉะนั้น การศึกษาธรรมะคือการรู้จักธรรมะก่อนนั่นเอง เพราะธรรมะเกิดขึ้นแล้วทางทวาร 6 นั่นเอง ไม่ใช่ที่ใหนเลย แต่ไม่รู้ว่านั่นเป็นธรรมะ
การจะรู้จักธรรมะให้มากขึ้น ก็ควรคบกัลยาณมิตร คือการฟังพระธรรมจากการแสดงของผู้รู้ เมื่อฟังแล้วต้องไตร่ตรองพิจารณา เทียบเคียงกับความเป็นจริง ด้วยตนเอง ไม่อ้างหรือถามผู้อื่น ความรู้จะเกิดขึ้นเอง
ธรรมะมีลักษณะของตนๆ มากมาย เมื่อเรียกชื่อก็มีชื่อมากมายตามนั้น ฉะนั้นนอกจากจะต้องรู้จักชื่อและความหมายจากการอ่านการฟังพระธรรมแล้ว
สิ่งสำคัญไม่ใช่รู้จักชื่อและความหมายของธรรมะนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การรู้และเข้าใจธรรมะที่เกิดปรากฏจริงๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในชีวิตประจำวันนี้เอง
2. สติ คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จัดเป็นปรมัตถธรรมที่เรียกว่า สติเจตสิก เกิดขึ้น ณขณะที่ระลึกรู้ตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ สติจะเกิดขึ้นเอง ด้วยเหตุและปัจจัยที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจมากขึ้นๆ บังคับให้เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องดับไปเช่นกัน
3. การปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อมีความเข้าใจธรรมะมากขึ้น ก็จะรู้ว่า ไม่มีการกำหนดให้ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะธรรมะแต่ละอย่างได้ทำหน้าที่ของตนเองไปแล้ว มีแต่การฟังพระธรรม ฟังให้เข้าใจ ความเข้าใจจะเกิดทีละน้อยๆ ความลังเลสงสัยไม่รู้ ก็จะละคลายไป นั่นคืออบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
อนุโมทนาในกุศลจิตในการศึกษาธรรมะนะครับ