วิปัสสนาญาณที่ ๓ -- สัมมสนญาณ
วิปัสสนาญาณที่ ๓ -- สัมมสนญาณ
สัมมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้จะพิจารณารู้ว่านามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่การเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรมก็ไม่ปรากฏ หรือแม้ในวิปัสสนาญาณที่ ๑ และที่ ๒ การประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็เป็นการประจักษ์เฉพาะลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่างเท่านั้น
วิปัสสนาญาณที่ ๑, ๒, ๓ เป็น ตรุณวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณขั้นเริ่มแรกจึงเป็นวิปัสสนาที่ยังอ่อน ไม่ใช่พลววิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่มีกำลังที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นๆ ตรุณวิปัสสนา ยังมีการตรึกถึงนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังประจักษ์แจ้ง แม้โดยอาการที่ว่างเปล่าจากโลกที่เคยรวมกัน
เมื่อยังมีการตรึกถึงนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังประจักษ์จึงชื่อว่า จินตาญาณ ซึ่งทำให้บางท่านเข้าใจว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๓ นี้คือขณะที่กำลังระลึก สังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเข้าใจชัดขึ้น แต่ตราบใดที่วิปัสสนาญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า วิปัสสนาญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารนั้นจะเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา ณ สถานที่ใด ขณะใด และจะมีนามธรรมใดและรูปธรรมใดปรากฏเป็นอารมณ์กี่อารมณ์บ้าง
บางท่านเข้าใจว่า ขณะที่กำลังระลึกรู้ พิจารณาสังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และคิดว่ารู้ชัดแล้วนั้นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ที่เข้าใจอย่างนี้เพราะยังไม่รู้ว่า วิปัสสนาญาณต้องเกิดขึ้น ปรากฏโดยความเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับนามธรรมอื่นๆ และการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมสืบต่อกันทางมโนทวาร โดยลักษณะที่ทวารอื่นเสมือนถูกมโนทวารปิดบังไว้ โดยนัยตรงกันข้ามกับขณะที่วิปัสสนาญาณไม่เกิด ซึ่งแม้มโนทวารวิถีจิตเกิดคั่นปัญจทวารวิถีจิตทุกวาระ แต่มโนทวารวิถีจิตก็ไม่ปรากฏ เพราะอารมณ์ของปัญจทวารวิถีจิตปิดบังไว้
บางท่านคิดว่า ขณะที่พิจารณารู้ว่านามนี้เกิดจากรูปนี้ รูปนั้นเกิดจากนามนั้น จนเข้าใจแล้วนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ คือ ปัจจยปริคคหญาณ แต่เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด วิปัสสนาญาณอื่นๆ ก็เกิดไม่ได้ และเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลยว่าขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ผู้ที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ย่อมรู้ความเป็นอนัตตาของวิปัสสนาญาณว่า วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นตามที่มรรคมีองค์ ๘ (ปกติมีองค์ ๕) ปรุงแต่งไปจนถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณนั้นๆ วิปัสสนาญาณนั้นๆ จึงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ฉะนั้น จึงเป็นผู้อบรมเจริญเหตุ คือ สติปัฏฐาน ระลึกศึกษาพิจารณา สังเกต รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปกติต่อไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น
บางท่านคิดว่า เมื่อสัมมสนญาณเกิดขึ้นนั้น จะเห็นนามธรรมเกิดขึ้นและดับไปเป็นดวงกลมๆ ต่อๆ กัน นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภท ก็คิดว่า ... นามธรรมที่เกิดดับนั้น มีลักษณะเหมือนกับรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่ใจร้อนอยากจะให้วิปัสสนาญาณเกิดเร็วๆ นั้น ย่อมพยามยามทำอย่างอื่น แทนการระลึกพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง แต่ไม่มีทางจะเร่งรัดปัญญาได้เลย
เหตุที่จะอบรมปัญญาให้ค่อยๆ เจริญขึ้นได้นั้น ... มีหนทางเดียว คือสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวันเท่านั้น ถ้าทำอย่างอื่นที่ผิดไปจากนี้ ก็แน่นอน ที่ผลต้องผิดไปตามเหตุที่ผิดด้วย การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็วเพราะไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูก โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดจึงเป็นมิจฉามรรคที่นำปสู่มิจฉาวิมุตติ คือการพ้นอย่างผิดๆ เพราะไม่ใช่การพ้นจากกิเลสอย่างถูกต้อง แต่ก็เข้าใจผิดว่าพ้นจากกิเลสแล้ว
ดาวน์โหลดหนังสือ -->