เสน่ห์อินเดีย 26 โรงพยาบาลวัดไทยกุสินารา
โรงพยาบาลวัดไทยกุสินารา
จากนั้นก็แวะที่โรงพยาบาลวัดไทยกุสินาราที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัด เพื่อถวายเงินสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล ซึ่งเดิมเป็นสถานพยาบาลอยู่ในวัด ปัจจุบันสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่พอสมควร มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาที่กำลังทรงวางศิลาฤกษ์ติดอยู่ที่หน้าอาคารที่กำลังก่อสร้าง ตอนที่เราไป โรงพยาบาลยังไม่ได้เปิดดำเนินการ (หรือปิด เพราะเป็นวันอาทิตย์) ได้ทราบจากพระคุณเจ้าว่า จ้างหมอชาวอินเดีย ๓ คน เงินเดือนคนละ ๑๕,๐๐๐ รูปีขณะที่ผู้จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนจากราชการ ๒,๕๐๐ รูปี ท่านบอกว่ามีผู้สนใจมาสมัครทำงานที่วัดกันมาก ทั้งที่เป็นยามในวัด รายได้วันละ ๖๐ รูปี แต่ทานอาหารที่วัดและยังได้ทิปจากคนไทยบ่อยๆ ด้วย ชาวบ้านแถวนั้นนิยมมาทำงานที่วัดมากกว่าที่โรงแรมเสียอีก
วัดไทยยังเปิดโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย มีเด็กๆ มาสมัครเรียนกันมาก ต้องมีการสอบคัดเลือก ลูกใครสอบไม่ได้ พ่อแม่ก็จะเสียใจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้มาเรียนที่วัดแล้ว เด็กๆ ก็จะได้รับการดูแลอย่างดี ท่านยังเล่าต่อไปว่า ที่รัฐมหาราช มีผู้หันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น เพราะ ดร. เอ็ม. เบกการ์ ซึ่งเคยเป็นจัณฑาล เป็นผู้นำ เมื่อเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็หมดความเป็นจัณฑาล มีความเสมอภาคเท่ากับคนอื่นๆ สามารถศึกษาและประกอบอาชีพตามความสามารถของตนได้ และนึกออกอีกเรื่องหนึ่ง ที่คุณสุวัฒเล่าให้ฟังว่า ท่านเรวตะที่สมาคมมหาโพธิ พุทธคยา ท่านเดินทางไปทั่วอินเดีย และพบว่าที่รัฐโอริสสา มีหมู่บ้านหนึ่ง ประมาณ ๔๐๐ ครัวเรือน (หรือ คน ไม่แน่ใจค่ะ) นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเดินจนทั่วโรงพยาบาลแล้ว ก็ถึงเวลาที่อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาและคณะ ถวายเงินจำนวนประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาทให้แก่วัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล พระคุณเจ้าบอกว่าพวกเราเป็นคณะแรกที่มาทำบุญมอบปัจจัยในห้องประชุมของโรงพยาบาลแห่งนี้ ขออนุโมทนาในกุศลที่ทุกท่านได้บำเพ็ญแล้วค่ะ