เสน่ห์อินเดีย 29 พิพิธภัณฑ์สารนาถ
พิพิธภัณฑ์สารนาถ
หลังอาหารเช้า ออกจากโรงแรมเวลา ๙.๓๐ น. เพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์สารนาถ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดไทย ซึ่งเป็นที่แสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบจากป่าอิสิปตนมฤทายวัน พิพิธภัณฑ์มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต มีสนามหญ้าและปลูกดอกรักเร่ออกดอกสวยงาม เมื่อเข้าพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่เห็น คือ เสาหินพระเจ้าอโศกที่มีรูปสิงห์ ๔ ตัว นั่งหันหลังชนกันบนยอดเสา เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๐ หลังจากเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ๓๔๘ ปี รัฐบาลอินเดียเลือกสิงห์หัวเสาอโศกในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ โดยเลือกเอาด้านที่มีม้าและวัวที่เป็นฐานเป็นด้านหน้า ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
๑. ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประเทศอินเดียเป็นปึกแผ่น มีเอกราช มีความยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ที่มีกษัตริย์ปกครอง
๒. ในสมัยของท่าน ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมแทนการใช้อาวุธ ทำให้ประชาชนร่มเย็นเป็นสุข
๓. พระเจ้าอโศกทรงสร้างวัดจำนวน ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วอินเดีย และเสาศิลาจารึกที่มียอดเสาสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสิงห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความองอาจ มีอำนาจ เสาเหล่านั้นมีความแข็งแรงทนทานจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์แยกเป็นส่วนกลาง และปีกทั้ง ๒ ข้าง ภายในมีรูปสลักพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆ มากมาย ล้วนสวยงามและมีประวัติยาวนาน มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่พระบาทถูกลูบคลำจนเป็นมัน มีเจ้าหน้าที่แขกเรียกแล้วทำท่าให้ดูว่า เอามือลูบพระบาทแล้วเอามาลูบศีรษะ ถ้าใครทำตาม ก็จะขอเงินอีกตามเคย เราเลยทำเป็นไม่เข้าใจเพราะเงินรูปีใกล้จะหมดแล้ว ต้องเก็บไว้ทิปคนยกกระเป๋า รอให้เขาเดินไปที่อื่นก่อน จึงทำตาม (อย่างนี้เรียกว่า คดโกง หรือเปล่า) ด้วยความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาค ขอแตะพระพุทธบาท และน้อมมาไว้ที่ศีรษะด้วยความเคารพนอบน้อมในพระปัญญาคุณพระมหากรุณาคุณ และพระบริสุทธิคุณอันยิ่งใหญ่
และก็ได้ชมสิ่งที่มีค่าสวยงามที่สุดในพิพิธภัณฑ์นี้ คือ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่สร้างขึ้นในยุคสมัยคุปตะ (Gupta Period) ประมาณปี พ.ศ. ๘๐๐-๑๒๐๐ ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศิลป์มีความเจริญสูงสุด พระพุทธรูปองค์นี้ถูกค้นพบที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน ถือกันว่าเป็นพุทธปฏิมาที่งดงามมาก ในการประกวดพุทธปฏิมาของอินเดียทุกครั้ง จะได้รับการคัดเลือกว่าเป็นพุทธรูปที่งดงามที่สุด นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในโลกองค์หนึ่งก็ว่าได้ องค์พระสร้างจากหินทรายเมืองจูนาร์ มีความสูงจากฐานถึงพระรัศมี ๑.๖ เมตรหน้าตักกว้าง ๐.๗๙ เมตร ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชรบนพระแท่น พระหัตถ์อยู่ในท่าทรงแสดงธรรม สื่อความหมายถึงการไขปริศนาธรรมที่ถูกปกปิดมานาน ด้านบนมีพระรัศมีแผ่เป็นวงกลม ปรากฏเป็นรูปเทวดา ๒ ตน กำลังโปรยดอกไม้บูชาพระพุทธองค์ ตรงกลางฐานพระพุทธรูปแกะสลักเป็นวงล้อพระธรรมจักรอยู่บนแท่น มีกวางสองตัวหมอบอยู่ทั้งสองข้าง มีรูปพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขนาบสองข้าง ด้านซ้ายมีรูปสลักสตรีและเด็ก สันนิษฐานว่า เป็นเจ้าภาพผู้สร้างองค์พระพุทธรูปพร้อมบุตร เมื่อได้เห็นกับตา ก็พบว่าเป็นกุศลวิบากที่ได้เห็นพระพุทธรูปที่สวยงามเช่นนี้ ผู้สร้างคงสร้างด้วยจิตที่ศรัทธาต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสูงสุด ทำให้มองดูเหมือนยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ จะมองมุมไหนก็ดูงามไปคนละแบบ น่าเลื่อมใสทั้งสิ้น
บางท่านอาจจะสงสัยเหมือนอย่างที่เราเคยสงสัยว่า การสร้างพระพุทธรูปมีความเป็นมาอย่างไร จึงค้นคว้ามาได้ความว่า จากตำนานพระแก่นจันทน์ ได้กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปในสมัยพุทธกาลว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จจำพรรษาที่นั่น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ไม่ได้ทรงเห็นพระผู้มีพระภาค มีความรำลึกถึง จึงตรัสให้ช่างสร้างพระพุทธรูปขึ้นด้วยไม้จันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียืนยันว่า พระพุทธรูปได้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๓๗๐ โดยชาวโยนก ฝรั่งชาติกรีกที่นับถือพระพุทธศาสนา ประดิษฐานครั้งแรกในแคว้นคันธาระ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์กรีกองค์แรกที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนา จากนั้นมา การสร้างพระพุทธรูปได้มีการพัฒนาศิลปะให้สอดคล้องกับอุดมคติของช่างสกุลต่างๆ ของแต่ละชนชาติ แต่ละยุคสมัย เพื่อให้เกิดความงดงามเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน คตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปได้แพร่ขยายไปสู่นานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย
เมื่อทราบความเป็นมาเช่นนี้แล้ว พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาที่ขุดค้นพบในป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนี้ นับว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น งดงามยิ่ง ก่อให้เกิดความเลื่อมใสในพระคุณทั้ง ๓ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมเจตนารมณ์ของผู้สร้าง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมา-สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า เช่นเคย เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์ก็ต้องหาห้องน้ำ คราวนี้พบว่าห้องน้ำสะอาดในบริเวณพิพิธภัณฑ์สวยหรูกว่าเมื่อ ๕ ปีก่อนมาก และไม่ต้องจ่ายเงินด้วย เพราะไม่มีคนยืนเฝ้าคอยเปิดปิดประตูให้ ออกจากพิพิธภัณฑ์ก่อนคนอื่น จึงขึ้นไปนั่งคอยบนรถ มีขอทานบ้างเหมือนกันเห็นคุณโจเกิดกุศลจิตซื้อผัดหมี่ที่ขายโดยเด็กสาวชาวธิเบตแจกเด็กๆ หลายคน ผู้หญิงที่ขายของจะไม่ใช่ชาวอินเดีย ดังนั้น เด็กสาวคนนี้กับแม่จึงขายดีกว่าร้านอื่นที่มีผู้ชายแขกขาย มีคนยืนเข้าคิวซื้อผัดหมี่กันมากมาย บางครั้งธรรมเนียมวัฒนธรรมก็กีดขวางความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเหมือนกัน