โลก คือหมู่สัตว์อันอวิชชาห่อหุ้มไว้...ทุกข์ เป็นภัยใหญ่ของโลก ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านอชิตะ ได้ทูลถามปัญหาว่า โลก คือหมู่สัตว์ อันอะไรห่อหุ้มไว้ โลก ไม่แจ่มแจ้ง เพราะอะไร พระองค์ตรัสอะไร ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร อชิตะ โลก อันอวิชชาห่อหุ้มไว้ โลก ไม่แจ่มแจ้ง เพราะความสงสัยเรากล่าว ตัณหา ว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์ เป็นภัยใหญ่หลวงของโลกนั้น ดังนี้
"โลก คือหมู่สัตว์ อันอะไนห่อหุ้มไว้"
"โลก อันอวิชชา ห่อหุ้มไว้" ดังนี้ ได้แก่ สัตว์โลก อันนิวรณ์ทั้งหลาย ห่อหุ้มไว้ จริงอยู่ สัตว์ทั้งปวงมีนิวรณ์ คือ อวิชชา (เป็นเครื่องปกปิด) เหมือนพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่านิวรณ์หนึ่งนั้นทีเดียวโดยปริยายแห่งสัตว์ทั้งปวง แห่งปาณะทั้งปวง แห่งภูตะทั้งปวง ว่า นิวรณ์นี้ใด คือ อวิชชาเพราะสัตว์ทั้งปวง มีอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การดับ การสละ การสละคืนอวิชชา ย่อมไม่มี โดยประการทั้งปวง นั่นแหละ เราจึงกล่าวว่า อวิชชา เป็น นิวรณ์ของสัตว์ทั้งหลาย" ดังนี้
"โลก ไม่แจ่มแจ้ง เพราะอะไร"
"โลก ไม่แจ่มแจ้งเพราะความสงสัย เพราะความประมาท" ดังนี้ บุคคลใด อันนิวรณ์ทั้งหลายหุ้มห่อแล้วบุคคลนั้น เมื่อสงสัย ย่อมไม่เลื่อมใสเมื่อไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งกุศลธรรมบุคคลนั้นเป็นผู้ประมาทเนืองๆ ในความประมาทเป็นผู้มัวเมาแล้ว อยู่ในโลกนี้ ย่อมไม่ยังสุกกธรรม ให้เกิดขึ้น สุกกธรรมเหล่านั้นเมื่อไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลนั้น เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสเจ้าตรัสไว้ว่า "สัตบุรุษ ย่อมปรากฏได้ในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมวันต์ อสัตบุรุษทั้งหลาย แม้นั่งในที่นี้แล้ว ก็ย่อมไม่ปรากฏ เหมือนลูกศร ที่บุคคลยิงไปแล้วในเวลากลางคืน ฉะนั้น สุกกธรรมเหล่านั้น ย่อมปรากฏ ด้วยคุณทั้งหลาย คือ ด้วยเกียรติ (การสรรเสริญ) และ ด้วยยศ" ดังนี้
"พระองค์ตรัสอะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้"
"เรากล่าวตัณหา ว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้" ดังนี้ ก็ตัณหา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ชัปปา (ความอยากได้) ตัณหานั้น ย่อมฉาบทาอย่างไร (ข้อนี้) เหมือนพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ผู้ราคะย้อมแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถะ ย่อมไม่เห็นธรรมะราคะ ย่อมครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้น ความมืดตื้อ ย่อมมีแก่นรชนนั้น" ดังนี้
ตัณหานี้นั้น เพราะอธิบายว่า "เป็นเครื่องฉาบทาโลกอย่างนี้"แก่บุคคล ผู้มากด้วยความเกี่ยวเนื่องในอารมณ์นั้นด้วยเหตุนี้ โลก คือหมู่สัตว์ จึงชื่อว่า "ผู้อันตัณหาฉาบทาแล้ว"
"อะไร เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น"
"ทุกข์ เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น" ดังนี้
ก็ทุกข์ มี ๒ อย่าง คือ ทุกข์ อันเป็นไปทางกาย และ ทุกข์ อันเป็นไปทางใจ ทุกข์ใด เป็นไปทางกาย นี้ชื่อว่า ทุกข์ทุกข์ใด เป็นไปทางใจ ทุกข์นี้ ชื่อว่า โทมนัส จริงอยู่ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อทุกข์ ที่เสมอเหมือนด้วยทุกข์ ย่อมไม่มีก็หรือว่า ภัยที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกข์นั้น จักมีแต่ที่ไหน
ความทุกข์ ๓ อย่าง คือ ความเป็นทุกขทุกข์ ความเป็นสังขารทุกข์ และ ความเป็นวิปริณามทุกข์
บรรดาทุกข์ ๓ อย่าง นั้นสัตว์โลก ย่อมพ้นจากทุกขทุกข์ ในที่บางแห่ง เฉพาะในกาลบางคราวย่อมพ้นจากวิปริณามทุกข์ โดยทำนองนั้นเหมือนกัน ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสัตว์บางพวก มีอาพาธน้อยบ้าง มีอายุยืนบ้าง มีอยู่ในโลก แต่สัตว์โลก ย่อมพ้นจากความเป็นสังขารทุกข์ได้ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะฉะนั้น ความเป็นสังขารทุกข์ จึงเป็นของสัตว์โลก ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "ทุกข์ เป็นภัยใหญ่ของโลก" ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ในการประกอบปุจฉา วิสัชนา จึงตรัสว่า "โลก คือ หมู่สัตว์ อันอวิชชาห่อหุ้มไว้" ดังนี้
ข้อความบางตอนจากหนังสือ "เนตติปกรณ์" รจนาโดย ท่านพระมหากัจจายนะ แปลโดยอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ขออนุโมทนา
ขอเรียนถามว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า นิวรณ์หนึ่งนั้นทีเดียว โดยปริยายแห่งสัตว์ทั้งปวง แห่งปาณะทั้งปวง แห่งภูตะทั้งปวง ว่า นิวรณ์นี้ใด คือ อวิชชา เพราะสัตว์ทั้งปวง มีอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น.
ปาณะ และ ภูตะ แปลว่าอะไรคะ
บุคคลนั้น เป็นผู้ประมาทเนืองๆ ในความประมาทเป็นผู้มัวเมาแล้ว อยู่ในโลกนี้ ย่อมไม่ยังสุกกธรรมให้เกิดขึ้น สุกกธรรมเหล่านั้น เมื่อไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลนั้น ฯ
สุกกธรรม แปลว่าอะไรคะ
"สัตบุรุษ ย่อมปรากฏได้ในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมวันต์ อสัตบุรุษทั้งหลาย แม้นั่งในที่นี้แล้ว ก็ย่อมไม่ปรากฏ เหมือนลูกศร ที่บุคคลยิงไปแล้วในเวลากลางคืน ฉะนั้น
กรุณาอธิบายข้อความข้างต้นนี้ด้วยค่ะ ยังไม่เข้าใจ ว่า หมายความว่าอะไรค่ะ ความทุกข์ ๓ อย่าง คือความเป็นทุกขทุกข์ ความเป็นสังขารทุกข์ และ ความเป็นวิปริณามทุกข์. ความทุกข์ทั้ง ๓ ประการ แต่ละประการ แปลว่าอะไรคะ
คำว่า ปาณะและภูตะ หมายถึงสัตว์ และมีความอื่นๆ ด้วยคำว่า สุกกธรรม หมายถึงธรรมขาว ได้แก่ หิริโอตตัปปะ และ โสภณธรรม คำว่า สัตว์บุรุษ ย่อมปรากฏได้ในที่ไกล หมายถึง ผู้ที่เคยสะสมบุญบารมีมา ย่อมปรากฏแก่พระญาณของพระพุทธเจ้า ทรงจำแนกทุกขอริยสัจจ์โดยนัยของเวทนาคำว่า ทุกขทุกข์ หมายถึง ทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ ได้แก่ทุกขเวทนา และโทมนัสเวทนาคำว่า วิปรินามทุกข์ หมายถึง สุขทางกายและสุขทางใจ สุขเวทนาและโสมนัสเวทนาคำว่า สังขารทุกข์ หมายถึง อุเบกขาเวทนาและสังขารที่เหลือ จิต เจตสิก รูป
ขอเรียนถาม อ.prachern.s คำอธิบาย ทุกขทุกข์ ค่ะ คำว่า ทุกขทุกข์ หมายถึง ทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ สุขเวทนา และ โทมนัสเวทนา ถามว่า ทุกข์ เวทนา เป็นสุข หรือคะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ทุกขทุกข์ หมายถึง ทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ เวทนาต้องเป็นทุกขเวทนา ขออภัยที่ตอนแรกเขียนผิด เป็นสุขเวทนา ขณะนี้แก้แล้วครับ
ขออนุโมทนา
กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า
คำของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมากว่า 2,560 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นคำที่มีค่ากับสติและปัญญาอย่างยิ่งที่ไม่มีคำใดที่จะเปรียบได้
ถ้าไม่ได้เข้าใจคำของพระพุทธองค์ที่ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายครั้งพุทธกาล สัตว์โลกที่เกิดภายหลังจะไม่รู้เลยว่า ความสุขที่แสวงหาทุกวันนี้ แท้จริงคือแสวงหาความทุกข์ แล้วก็ติดข้องยินดีพอใจต้องแสวงหาต่อไปไม่สิ้นสุด การเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ เต็มไปด้วยความทุกข์มีความสุขเล็กน้อยฉาบทาไว้ เพราะความไม่รู้จึงไม่เห็นทุกข์ แล้วก็แสวงหาความทุกข์โดยไม่รู้ความจริง ดังคำที่แสดงว่า เหมือนลิ้นเลียน้ำผึ้งบนปลายมีดที่คมกริบ
ศึกษาพระธรรมแล้วจึงรู้ว่า ความจริงที่ควรรู้ ให้มั่นคง เริ่มแรก คือ ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรม เกิดขึ้นแล้วดับไป ตามเหตุและปัจจัย ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น การแสวงหาจะ ค่อยๆ ลดน้อยลงได้เพราะความรู้
แต่ความรู้จะมาจากไหน ต้องมาจากการฟังคำของพระพุทธองค์ ที่ถ่ายทอดโดยผู้ที่ศึกษามาอย่างแท้จริง
กราบแทบเท้าบูชาพระคุณ อาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่ทำให้ชาตินี้ไม่เสียโอกาสของการเกิดเป็นมนุษย์เพราะได้สะสมความเข้าใจความจริงจากการได้ฟังคำจริง ที่ท่านอาจารย์ถ่ายทอด ได้ตรงเหมือนผู้อ่านสารพระราชา
กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลสหายธรรมทุกท่านด้วยค่ะ