สติเป็นเครื่องกั้นกระแส...กระแสเหล่านั้นบัณฑิตละได้ด้วยปัญญา

 
พุทธรักษา
วันที่  12 มี.ค. 2552
หมายเลข  11599
อ่าน  2,849

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอชิตะได้ทูลถามปัญหาว่า "กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไร เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์ ตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลาย อันบัณฑิตย่อมปิดได้ ด้วยธรรมอะไร" ดังนี้ ฯ

ท่านอชิตะ ถามด้วยคำถามเป็นอันมาก (คือถามว่า) อะไรเป็นเครื่องผ่องแผ้ว เป็นเครื่องออกไป ของสัตว์โลก ผู้ถึงพร้อมแล้ว อย่างนี้อะไรเป็นเครื่องผ่องแผ้ว เป็นเครื่องออกไป ของสัตว์โลก ผู้เศร้าหมองแล้ว อย่างนี้

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวไว้ใน "อชิตสูตร" นี้ (ว่า) บาทแห่งคาถาว่า "สวนฺติ สพฺพธิ โสตา" อธิบายว่า กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไปแก่บุคคล ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นผู้มากด้วยอภิชฌา พยาบาท และประมาทในอภิชฌา พยาบาท และความประมาทนั้น. ธรรมชาติใดเป็นอภิชฌา ธรรมนี้เป็นโลภะ (โลภะนี้) เป็นอกุศลมูล พยาบาทอันใด อันนี้ เป็นโทสะ และเป็นอกุศลมูล ความประมาทอันใด อันนี้ เป็นโมหะ และเป็นอกุศลมูล

ตัณหาทั้งหลาย คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหาย่อมไหลไปในอายตนะ ๖ ของบุคคล ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นแล้วนั้นโดยประการที่กล่าวแล้วนี้ ฯ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็คำว่า "ย่อมไหล" นี้แล เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖ คือ จักขุ (อาสวะที่เกิดทางจักขุ และทางทวารอื่น โดยนัยเดียวกัน) ย่อมไหลไปในรูปทั้งหลาย อันเป็นที่ยังใจให้เอิบอาบ ย่อมทำให้เดือดร้อนในอารมณ์ อันไม่เป็นที่ยังใจให้เอิบอาบ" ฯ ตัณหานั้นย่อมไหลไป (เป็นไป) แต่ทวารทั้งปวง (มีจักขุทวารเป็นต้น) และ ย่อมไหลไป เป็นไป โดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ความเป็นไปแห่งตัณหา จึงตรัสว่า"กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไป ในอารมณ์ทั้งปวง" ดังนี้ ฯ

ท่านอชิตะ ย่อมถามถึงการกำจัดปริยุฏฐาน (กิเลส) ด้วยคำว่า "อะไร เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย"นี้ เป็นการถามถึง โวทานะ (คือความผ่องแผ้ว) และย่อมถามถึงการถอนขึ้นซึ่งอนุสัย (กิเลส) ด้วยคำว่า"ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย" นี้ ... เป็นการถามถึง วุฏฐานะ. (คือ การออกไป ได้แก่ มรรคญาณ)

ในปัญหานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า "ดูกร อชิตะ สติ เป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวว่า สติ เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลายกระแสเหล่านั้น อันบัณฑิต ย่อมปิดได้ ด้วยปัญญา" ดังนี้ ฯ

เพราะ สติ อันเป็นไปในกาย อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักขุ ย่อมไม่ชักมา ในรูปทั้งหลายอันชอบใจ ย่อมไม่ทำให้เดือดร้อน ในรูปทั้งหลายอันไม่ชอบใจ โสตะ ฯลฯ ฆานะ ฯลฯ ชิวหา ฯลฯ กาย ฯลฯ ใจ ย่อมไม่ชักมา ในธรรมทั้งหลาย อันชอบใจ ย่อมไม่ทำให้เดือดร้อน ในธรรมอันไม่ชอบใจ ... เพราะเหตุไรเพราะความที่อินทรีย์ทั้งหลาย เป็นธรรม อันตนสำรวมแล้ว และกั้นไว้แล้ว ฯ

ถามว่า อินทรีย์เหล่านั้น อันบุคคลสำรวมแล้ว และกั้นไว้แล้ว ด้วยอะไร เป็นเครื่องคุ้มครอง ตอบว่า ด้วย สติ เป็นเครื่องคุ้มครอง ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในการคุ้มครองป้องกัน จึงตรัสว่า "สติ เป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น" ดังนี้ ฯ

อนุสัย ทั้งหลาย อันบุคคล ละด้วยปัญญา ครั้นเมื่ออนุสัยทั้งหลาย อันปัญญาละได้แล้วปริยุฏฐาน (กิเลส) ทั้งหลาย ชื่อว่า อันบุคคล ย่อมละได้เพราะเหตุไร เพราะความที่อนุสัย อันบุคคลนั้นละได้แล้ว ฯ การละปริยุฏฐานได้ เพราะการละอนุสัยนั้น
เหมือนอย่างบุคคล ขุดดินของต้นไม้ ด้วยจอบ เป็นต้นแล้วถอนรากขึ้น ทำลายโดยไม่เหลือ ความสืบต่อของดอก ผล ใบอ่อนและหน่อของต้นไม้นั้น

ย่อมเป็นอันบุคคลนั้น ทำลายแล้ว ฉันใดความสืบต่อ คือ ปริยุฏฐาน ของอนุสัยทั้งหลาย ในอนุสัย อันมรรคญาณประหารแล้ว ย่อมเป็นอัน ถูกทำลายแล้ว ฉันนั้น อนุสัย ย่อมชื่อว่า อันปัญญาปิดไว้ ปกปิดไว้แล้ว ฯ

ถามว่า อนุสัยนั้น อันบุคคลทำลายได้ ด้วยอะไร ฯ ตอบว่า อนุสัยนั้น อันบุคคลทำลายได้ ด้วยมรรคปัญญา ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"กระแสเหล่านั้น อันบัณฑิตย่อมปิดได้ ด้วยปัญญา" ดังนี้ ฯ

ท่านอชิตะ ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และ นามรูป ธรรม ทั้งหมดนี้ ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์ อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด" ดังนี้ ฯ "ดูกร อชิตะ เราจะบอกปัญหานั้น ที่ท่านได้ถามแล้ว แก่ท่าน นาม และ รูป ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติ และ ปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ" ดังนี้ ฯ

ถามว่า ท่านอชิตะ นั้นเมื่อจะถามถึงความสืบต่อในปัญหา ย่อมถามอะไร ... คือ ... ย่อมถามถึง ความดับ เท่านั้น หรือว่า ย่อมถามอย่างอื่น ฯ ตอบว่า ย่อมถามถึงปฏิปทา เพื่อถึงนิพพานธาตุ อันไม่มีอุปาทิ เหลืออยู่ฯ (ไม่มีกัมมชรูป และ วิบากขันธ์เหลืออยู่) ปฏิปทาที่ถึงการดับไม่มีเหลือ

ก็สัจจะ ๓ คือ ทุกข์ สมุทัย และมรรค เป็นสังขตะมีความดับไป เป็นธรรมดา ส่วน นิโรธ เป็นอสังขตะ ฯ ในสัจจะเหล่านั้น สมุทัย อันบุคคลย่อมละได้ในภูมิทั้ง ๒ คือด้วยทัสสนภูมิ และ ภาวนาภูมิ ฯ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสสละได้ด้วย ทัสสนะ (ทัสสนภูมิ) ส่วนสังโยชน์ ๗ คือ กามฉันทะ พยาบาท รูปราคะ อรูปราคะมานะ อุทธัจจะ และ อวิชชา ที่เหลือ (จากทัสสนภูมิ) ละได้ด้วย ภาวนา (ภาวนาภูมิ)

สังโยชน์ ๑๐ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่านี้ อันเป็นไป ในโลกธาตุ ๓ (คือ ทุกข์ สมุทัย มรรค) อันบุคคลย่อมละได้ด้วย ทัสสนภูมิ และ ภาวนาภูมิ แล ฯ


ข้อความบางตอนจากหนังสือ"เนตติปกรณ์" รจนาโดย ท่านพระมหากัจจายนะ

แปลโดยอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์


ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 มี.ค. 2552

ขอเรียนถามว่า ทัสสนภูมิ และ ภาวนาภูมิ แปลว่าอะไรคะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 13 มี.ค. 2552

คำว่า ทัสสนะ ในที่นี้ควรจะหมายถึง โสตาปัตติมรรค เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ละได้ด้วยปัญญาขั้นโสตาปัตติมรรคส่วนคำว่า ภาวนาภูมิ ในที่นี้ควรจะหมายถึง อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ซึ่งเป็นมรรคเบื้องสูง อนาคามิมรรคละ กามฉันทะ พยาบาท อรหัตตมรรคละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และ อวิชชา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 13 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 13 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Komsan
วันที่ 13 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
raynu.p
วันที่ 30 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ