ผู้มีความเพียร ความว่าอาตาปะ [มหาสติปัฏฐานสูตร]
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 287
บทว่า อาตาปี ผู้มีเพียร ความว่า อาตาปะ ความเพียรในคำนั้นเป็นอย่างไร การปรารภความเพียรเป็นไปทางใจฯลฯ สัมมาวายามะใด นี้เรียกว่า อาตปะ บุคคลผู้ประกอบด้วยอาตาปะนี้ เหตุนั้นบุคคลนั้น จึงเรียกว่า อาตาปี
บทว่า สมฺปชาโน ความว่า สัมปชัญญะ ในคำนั้นเป็นอย่างไร ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ บุคคลใดประกอบแล้ว ฯลฯ มาตามพร้อมแล้ว ด้วยสัมปชัญญะนี้ เหตุนั้นบุคคลนั้น จึงเรียกว่า สมฺปชาโน.
บทว่า สติมา ความว่า สติในคำนั้นเป็นอย่างไร ความระลึกได้ ความระลึกถึงฯลฯ ความระลึกชอบ นี้เรียกว่าสติ บุคคลใดประกอบแล้วฯลฯ มาตามพร้อมแล้วด้วยสตินี้ เหตุนั้น บุคคลนั้น จึงเรียกว่า สติมา
อธิบายบท อาตาปี สติมา สมฺปชาโน
บทว่า วิหรติ ได้แก่ การดำเนินไป. ในบทว่า อาตาปี พึงทราบวิเคราะห์ดังนี้ ชื่อว่า อาตาปะ เพราะอรรถว่า ย่อมเผาผลาญกิเลสในภพ ๓ คำว่า อาตาปะ นี้เป็นชื่อของวิริยะ. อาตาปะ ของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า อาตาปี.
บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ ประกอบด้วยญาณ กล่าวคือสัมปชัญญะ.
บทว่า สติมา คือ ประกอบด้วยสติที่ใช้กำหนดกาย. ก็ธรรมดาว่า อนุปัสสนา นี้ จะไม่มีแก่ผู้ปราศจากสติเลย เพราะพระโยคาวจรใช้สติกำหนดอารมณ์แล้ว จึงพิจารณาเห็น (กายเป็นตน) ด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็แลภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพูดถึงสติว่ามีประโยชน์ในธรรมทั้งปวง เพราะ-ฉะนั้น ในพระสูตรนี้ พระองค์จึงตรัสไว้ว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ (พิจารณาเห็นกายในกายอยู่) ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระองค์ตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกรรมฐาน. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ผู้ที่ไม่มีความเพียร ความหดหู่ภายในย่อมทำอันตรายให้ได้ ผู้ที่ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมเป็นผู้หลงลืมสติ ในการกำหนดอุบาย และในการเว้นสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย คือเป็นผู้ไม่สามารถในการกำหนดอุบาย และในการสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย (และ) กรรมฐานนั้น จะไม่สำเร็จแก่เธอด้วยวิธีนั้น ฉะนั้น พึงทราบว่า เพื่อจะทรงแสดงธรรมทั้งหลายที่มีอานุภาพเป็นเหตุสำเร็จแห่งกรรมฐานนั้น พระองค์จึงตรัสคำนี้ไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ สติมา มีสติ